บทบาทของมารดาต่อสถาบันครอบครัว

In ครอบครัว

บทความนี้จะกล่าวถึงบทบาทของมารดาที่มีต่อสถาบันครอบครัว และจะกล่าวถึง บทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของสตรี ทั้ง 3 บทบาทนั่นก็คือ 

1. บทบาทของการเป็นบุตรสาว 

2. บทบาทของการเป็นภรรยา

3. บทบาทของการเป็นมารดา ซึ่งทั้งสามบทบาทนี้อัลกุรอานได้ยกย่องบทบาทแห่งการเป็นมารดาไว้มากที่สุด 

นอกจากนี้อัลกุรอานยังได้แบ่งภาระหน้าที่ระหว่างสตรีและบุรุษ ด้านการดูแลบุตรไว้ให้เป็นหน้าที่ของมารดา ซึ่งสามารถศึกษาภาระหน้าที่ดังกล่าวจากคัมภีร์อัลกุรอานได้ 2 แนวทางด้วยกันคือ

1. ศึกษาได้โดยตรงจากบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอาน

2. ศึกษาได้จากมารดาตัวอย่างที่ใช้ชีวิตจนประสบความสำเร็จ

ดังที่อัลกุรอานได้ยกย่องไว้ มีสามท่านด้วยกันคือ

1.  ท่านหญิงมัรยัม

2. มารดาของท่านนบีอีซา (อ.)

3. มารดาของท่านนบีมูซา (อ.)

และในตอนท้ายของบทความนี้ จะกล่าวถึงคุณค่าของมารดาในทัศนะของอัลกุรอาน  ตลอดจนบทบาทอันยิ่งใหญ่ของมารดา และผลพวงแห่งการดูแลบุตรที่มีผลต่อการสร้างสังคม

สถาบันครอบครัว คือสถาบันหลักของสังคม และเป็นสถาบันแรกแห่งการเผยแผ่วัฒนธรรม ศีลธรรม ประเพณี ความคิดและความรู้สึก จากรุ่นลูกสู่รุ่นหลานสืบต่อไป  มารดาคือผู้ที่มีบทบาทยิ่งต่อสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานแห่งความถูกต้อง ตามแบบฉบับของอิสลาม เริ่มตั้งแต่น้ำนมแม่ซึ่งเป็นอาหารแรกที่ประเสริฐสุดของทารก  และอ้อมกอดของแม่ก็เป็นสถานพำนักแรกที่ดีเยี่ยมสำหรับการเลี้ยงดูบุตร

ตามบทบัญญัติในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน บทบาทหน้าที่ที่สูงส่งควรค่าแก่การสรรเสริญสำหรับสตรี ก็คือ บทบาทแห่งการเป็นแม่ และหน้าที่แห่งการดูแลบุตร

สามบทบาทที่ยิ่งใหญ่สำหรับสตรี

ตามกฎแห่งธรรมชาติและกฎแห่งการสรรสร้างแล้วสตรีจะมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง สามบทบาทด้วยกันคือ :

1. บทบาทแห่งการเป็นบุตรี

2. บทบาทแห่งการเป็นภรรยา 

3. บทบาทแห่งการเป็นมารดา

ระหว่างสามบทบาทหน้าที่นี้ บทบาทแห่งการเป็นมารดา เป็นบทบาทที่เหมาะสมแก่การยกย่องสรรเสริญสตรีมากที่สุด 

บทบาทสตรีในฐานะบุตรีของครอบครัว

อัลกุรอานได้กล่าวถึงทั้งสามบทบาทไว้แล้วก่อนหน้านี้ โดยมิได้บ่งบอกไว้ว่าทั้งสามบทบาทนั้นมีตำแหน่งที่เท่าเทียมกัน  แต่อัลกุรอานได้ระบุบทบาทของสตรีในฐานะบุตรสาวของครอบครัว ไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ

  1. บุตรีเป็นผู้ปกป้องศักดิ์ศรีแห่งการเป็นบุตรสาวและสตรีของครอบครัว

อัลกุรอานได้ให้ความสำคัญกับตำแหน่งของบุตรีและสตรีไว้อย่างมากมาย  และได้ประณามการกระทำที่โหดร้ายของผู้กดขี่ และพวกเลวทรามต่ำช้า ซึ่งพบมากในวัฒนธรรมของพวกอาหรับญาฮิลียะฮ์ 

ในอัลกุรอานมีหลายโองการด้วยกันที่กล่าวตำหนิการกระทำของพวกดูหมิ่นเหยียดหยามสตรีและบุตรสาว ถึงขั้นที่ว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ผู้ไร้ค่า และไม่สมควรที่จะศรัทธาพระเจ้าองค์เดียว

พวกเจ้าทั้งหลายอย่าฆ่าลูก ๆ ของพวกเจ้าเพราะกลัวจน เพราะเราให้โชคผลแก่พวกเขา และพวกเจ้า แท้จริงการฆ่าพวกเขาเป็นบาปมหันต์ (ซูเราะฮ์อิสรออ์ โองการที่ 31)

และเมื่อทารกหญิงที่ถูกฝัง (ได้ฟื้นคืนชีพและ) ถูกถามว่า เพราะความผิดอันใดหรือที่เธอถูกฆ่า (ซูเราะฮ์อัตตักวีร โองการที่8-9)

  1. บุตรีเป็นผู้รู้จักบุคลิกภาพและจิตวิทยาของมนุษย์เป็นอย่างดี

อัลกุรอานได้กล่าวถึงวิทยปัญญาที่สูงส่งและล้ำลึก ด้านการรู้จักบุคคลได้อย่างถูกต้องของบุตรี ตัวอย่างเช่นบุตรีของท่านนบีชุอัยบ์ (อ.) หลังจากที่นางได้พบกับท่านนบีมูซา (อ.) เพียงระยะเวลาสั้น ๆ  ขณะที่ไปตักน้ำให้กับฝูงแพะ และเมื่อนางเดินทางกลับบ้าน นางได้เล่าให้บิดาของนางฟังว่า โอ้บิดา จงว่าจ้างเขาเถิด แท้จริงที่ประเสริฐสุดแห่งบุคคลที่ท่านว่าจ้าง ก็คือผู้มีความแข็งแรงอีกทั้งซื่อสัตย์ (คนนี้) (ซูเราะฮ์กอศอศ โองการที่ 26)

จากเรื่องราวของท่านนบีมูซา (อ.) กับบุตรสาวของท่านนบีชุอัยบ์ (อ.) ดังโองการอัลกุรอานข้างต้น  เป็นเครื่องชี้ชัดว่าสตรีเป็นผู้มีสติปัญญา พรสวรรค์ และจิตวิทยาที่แข็งแกร่งล้ำลึก โดยเฉพาะในเรื่องของการเลือกคู่ครอง

  1. บุตรีเปี่ยมไปด้วยความสามารถด้านข้อมูลข่าวสาร

บุตรสาวเหมาะสมยิ่งที่จะเข้าไปอยู่ในวงการของการเผยแผ่ข้อมูลข่าวสารที่สลับซับซ้อน โดยเฉพาะในสังคมปิด ดังเช่นเรื่องราวของท่านนบีมูซา (อ.)  หรือแม้แต่เรื่องราวของพี่สาวท่านนบีมูซา (อ.)ที่คอยเฝ้าดูท่านนบีมูซา (อ.) แทนมารดา คอยติดตามและสะกดรอยตามท่านนบีมูซา (อ.) จนสามารถทำหน้าที่และรับผิดชอบตำแหน่งที่เหมาะสมนั้นได้ ตั้งแต่ย่างก้าวเข้าไปในวังของฟิรอูน จนกระทั่งนำท่านนบีมูซา (อ.) กลับคืนสู้อ้อมอกของมารดาของท่านได้สมหวังดังตั้งใจ

และนางได้ปรารภกับพี่สาวของเขา เธอจงออกสืบหาข่าวของเขาเถิด (จากนั้นพี่สาวของมูซาก็ออกเดินทาง) แล้วนางก็มองเห็นเขาจาก (สถานที่อัน) ห่างไกลโดยพวกเขาไม่รู้ตัว และเราได้หักห้ามเขา (มิให้ดื่มนมจาก) บรรดาแม่นม (ที่ฟิรอูนจัดหาให้) เมื่อก่อน (เมื่อนางมองเห็นเช่นนั้น) นางจึงพูดขึ้นว่า เอาไหมข้าจะชี้แนะพวกท่านให้ไปหาครอบครัวหนึ่งซึ่งพวกเขาจะเลี้ยงดูเด็กคนนี้ได้เพื่อพวกท่าน และพวกเขาล้วนเป็นผู้หวังดีต่อเขา จากนั้นเราจึงให้เขาคืนสู่มารดาของเขา (อีกครั้งหนึ่ง) เพื่อความสุขแห่งนาง และเพื่อนางจะได้ไม่เศร้าโศก (อีกต่อไป) (ซูเราะฮ์กอศอศ โองการที่ 11-13)

บทบาทของสตรีในฐานะภรรยา

สตรีในฐานะภรรยาตามทัศนะของอัลกุรอาน ถือเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งทั้งต่อสถาบันครอบครัว และสังคม

– บทบาทของภรรยาต่อสถาบันครอบครัว

  1. ภรรยาช่วยเติมเต็มชีวิตของสามีให้สมบูรณ์

อัลกุรอานได้กล่าวถึงการสร้างคู่ครองของสิ่งมีชีวิต อาทิ มนุษย์ ไว้หลายโองการด้วยกัน ซึ่งก็หมายความรวมถึงบุคคลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรี ในแง่ของพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ ทั้งสองมีความเหมือนกันทั้งในด้านของคุณค่า การแสวงหาความสมบูรณ์ และความเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ ตลอดจนเป็นผู้เติมเต็มความสมบูรณ์ให้กันและกัน ซึ่งทุกคู่ไม่สามารถที่จะทำสิ่งใดด้วยตนเองได้โดยปราศจากคู่ครองของตน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเผ่าพันธุ์ผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล นอกเสียจากการมีคู่ครองที่อยู่เคียงข้างกันและเหมาะสมกันเท่านั้น  หากไม่เช่นนั้นแล้วคำว่าคู่ครองจะไม่มีความหมายอีกต่อไป ซึ่งก็หมายถึงจากชีวิตคู่ก็จะกลายเป็นการหย่าร้างและเลิกรานั่นเอง

โอ้มวลมนุษย์ทั้งหลาย พวกเจ้าจงยำเกรงองค์อภิบาลของพวกเจ้า ซึ่งทรงบันดาลพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง (คืออาดัม) และได้บันดาลจากชีวิตนั้น ซึ่งคู่ครองของเขา (ฮาวา) (ซูเราะฮ์นิซาอ์ โองการที่1)

  1. ภรรยาช่วยสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์

ตามโองการอัลกุรอานข้างตน หลังจากที่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงสร้างคู่ครองให้กับท่านนบีอาดัม (อ.) และพระนางฮาวาแล้ว พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสว่า และพระองค์ทรงแพร่พันธุ์ไปจากทั้งสองซึ่งผู้ชายและผู้หญิงจำนวนมาก”

จากโองการดังกล่าวจะเห็นได้ว่า พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ให้ทั้งชายและหญิงมีบทบาทหน้าที่ร่วมกันในการขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์ และสตรีก็เท่าเทียมกับบุรุษในภาระหน้าที่นี้ด้วย แต่ในสมัยอาหรับญาฮิลียะฮ์ สตรีถูกเหยียดหยามให้เป็นเพียงภาชนะสำหรับรองรับกามารมณ์ของบุรุษเพศเท่านั้นเอง นางมิได้มีบทบาทใด ๆ ต่อการร่วมสร้างบุตรหลานเพื่อการสืบทอดเชื้อสายเผ่าพันธุ์ด้วยเลย รวมทั้งยังถูกมองข้ามสิทธิแห่งการเป็นมารดาอีกด้วย

  1. ภรรยาเป็นผู้สร้างความสงบสุขทางใจให้สามี

ซูเราะฮอัร-รูม โองการที่ 21 ความว่า และบางสัญลักษณ์ของพระองค์ คือ ที่พระองค์ทรงบันดาลคู่ครองแก่พวกเจ้ามาจากตัวของพวกเจ้าเอง ทั้งนี้เพื่อพวกเจ้าจะได้สงบอยู่กับนาง และพระองค์ทรงบันดาลความรัก และเมตตาให้มีขึ้นระหว่างพวกเจ้า

  1. ภรรยาเป็นผู้ปกปิดและขจัดความบกพร่องของสามี

จากทฤษฎีของอัลกุรอาน  บุรุษและสตรี เปรียบเสมือนอาภรณ์ของกันและกัน ดังซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 187 ความว่า พวกนางเป็นดั่งอาภรณ์ของพวกเจ้า และพวกเจ้าก็เป็นดั่งอาภรณ์ของพวกนาง

การตีความคำว่า อาภรณ์ นั้นคือ ตำแหน่งคู่ครองของทั้งบุรุษและสตรี  คือทั้งสองมีภาระหน้าที่เดียวกัน เป็นคู่ครองของกันและกัน  ดูแลซึ่งกันและกัน  และปกป้องคุ้มครองกันและกัน  

  1. ภรรยาเป็นที่ปรึกษาของครอบครัว

พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) กล่าวในอัลกุรอานไว้สองซูเราะฮ์ด้วยกัน ว่าสตรีนั้นคือที่ปรึกษาของสามี และบรรดาหญิงผู้ให้กำเนิดนางต้องให้นมแก่บรรดาลูก ๆ ของนางในระยะสองขวบโดยครบสมบูรณ์ แต่ถ้าเขาทั้งสองต้องการหย่านมลูกโดยความพอใจของทั้งสอง และโดยการปรึกษากันแล้วแน่นอนย่อมไม่เป็นบาปแก่ทั้งสอง (ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่233)

 และพวกเจ้าจงปรึกษาระหว่างพวกเจ้าโดยคุณธรรม (ซูเราะฮ์อัฏฏอลาก โองการที่6)

  1. ตอบสนองความต้องการของสามี

(ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 223) ความว่า สตรีที่เป็นภรรยาของพวกเจ้าก็คือไร่นาของพวกเจ้านั่นเอง ดังนั้นเจ้าทั้งหลายจงเข้าสู่ไร่นาของพวกเจ้าตามแต่พวกเจ้าพึงประสงค์เถิด

จะเห็นได้ว่า โองการข้างต้นส่งเสริมให้สตรีตอบสนองความต้องการทางเพศ และตอบสนองความใคร่ของสามี  ในทุกเวลาและทุกสถานที่ที่คิดว่าจำเป็น เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาทางเพศของสังคม  และสตรีคือผู้ที่สร้างความพึงพอใจ และสร้างความหนักแน่นและความอิ่มตัวทางเพศให้กับสามีของตน

– บทบาทของภรรยาต่อสังคม

อัลกุรอานกล่าวถึงภรรยาของท่านนบีนูห์ (อ.) และท่านนบีลูฏ (อ.)ไว้เป็นตัวอย่างของผู้ปฏิเสธ และผู้ไร้ซึ่งความศรัทธา ขณะเดียวกันภรรยาของฟิรอูน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับบุรุษและสตรีทั้งมวล

 อัลลอฮ์ได้ยกอุทาหรณ์หนึ่งแก่บรรดาพวกไร้ศรัทธา ภรรยาของนูห์ และภรรยาของลูฏ ซึ่งนางทั้งสองอยู่ภายใต้บ่าวสองคนที่มาจากกลุ่มบ่าวที่ดีของเรา แต่แล้วนางทั้งสองกลับบ่อนทำลายบ่าวทั้งสอง ดังนั้นนบีทั้งสองจึงไม่อาจป้องกันนางทั้งสองให้พ้นจากการลงทัณฑ์ของอัลลอฮ์ได้ สักเพียงสิ่งเดียวก็ตาม และมีผู้กล่าวว่า เจ้าทั้งสองจงเข้านรก พร้อมกับบรรดาจำพวกที่เข้านรกเถิด (ซูเราะฮ์อัตตะห์รีม โองการที่10-11)  และอัลลอฮ์ (ซบ.) ยกเรื่อยราวภรรยาฟิรอูนเป็นอุทาหรณ์หนึ่งแก่มวลผู้ศรัทธาเมื่อนางได้กล่าวว่า โอ้ผู้ทรงอภิบาล โปรดสร้างบ้านหลังหนึ่งให้ข้าพเจ้าในสวรรค์ และโปรดยัง ความปลอดภัยแก่ข้าพเจ้าจากฟิรอูน และผลงานของเขา และโปรดยังความปลอดภัยแก่ข้าพเจ้า จากกลุ่ม ทุจริตชนทั้งมวลเถิด”

บทบาทสตรีในฐานะมารดา

– พัฒนาบุตรด้วยอ้อมกอดของมารดา

อัลกุรอานบัญญัติไว้ว่าสถาบันครอบครัว คือ สถาบันแรกในการเลี้ยงดู และพัฒนาบุตรให้เป็นผู้มีศักยภาพ ซึ่งการเลี้ยงดูบุตรจะมีประสิทธิผลได้นั้น ขึ้นอยู่กับบิดาและมารดาเป็นผู้กำหนด ดังในซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 233 ความว่า และมารดาทั้งหลายนั้นจะให้นมแก่ลูก ๆ ของนางภายในสองปีเต็ม สำหรับผู้ที่ต้องการจะให้ครบถ้วนในการให้นม และหน้าที่ของพ่อนั้นคือปัจจัยยังชีพของพวกนางและเครื่องนุ่งห่มของพวกนางโดยชอบธรรม ไม่มีชีวิตใดจะถูกบังคับนอกจากเท่าที่ชีวิตนั้นมีกำลังความสามารถเท่านั้น (ทั้งพ่อและแม่ไม่สิทธิที่จะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ลูก เพราะความขัดแย้งกัน)

บางคนเชื่อกันว่า การแบ่งหน้าที่นี้ขึ้นอยู่กับช่วงสมัยและระยะเวลา เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วแม่มักจะเป็นผู้ที่อยู่กับบ้าน ในอีกแง่มุมหนึ่งอัลกุรอานได้กำหนดให้หน้าที่เลี้ยงดูบุตรนั้น เป็นใครก็ได้ จะเป็นพ่อ หรือเป็นคนอื่น ที่เป็นตัวแทนแม่ มาทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรก็ได้  และสามารถหาอาหารอื่นที่มีประโยชน์ มาใช้เลี้ยงบุตรแทนนมแม่ก็ได้

สามารถกล่าวได้ว่า การแบ่งหน้าที่ระหว่างพ่อและแม่ตามทฤษฎีของอัลกุรอานนั้น ไม่ใช่เป็นการหน้าที่แบบตามอำเภอใจ ซึ่งจะสร้างความเสื่อมเสียแก่สถาบันแห่งการสรรสร้างมนุษย์  แต่เป็นการแบ่งหน้าที่บนพื้นฐานแห่งความแตกต่างของการสรรสร้างชายและหญิง เพราะบุรุษเพศ มีความแข็งแกร่งทางสรีระร่างกาย สามารถอดทนต่อสู้กับงานหนัก และความรุนแรงต่าง ๆ ได้ ดังนั้นบุรุษจึงต้องแบกรับหน้าที่ในการทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว  สำหรับสตรีแล้ว สตรีเป็นผู้มีความอ่อนโยน มีเมตตาเป็นพื้นฐานหลักของหัวใจ อีกทั้งเป็นผู้แสวงหาความสันติ และอดทน นางจึงเหมาะสมกับหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดี

ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันกลับกลายเป็นการเกิดช่องว่างระหว่างแม่กับลูก เนื่องจากแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้เห็นได้ชัดว่า เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ทุกสิ่งจะประจักษ์ชัดว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะมาทดแทนนมแม่ และไม่มีความรักใด ความสงบสุขใด ที่จะมาทดแทนอ้อมกอดของแม่ได้

 

You may also read!

ความรู้ที่แท้จริง

รายงานจากท่านอิมามมูซากาซิมว่า เมื่อท่านศาสนทูตเดินเข้ามัสยิดเห็นคนกำลังนั่งล้อมชายคนหนึ่งอยู่ ท่านศาสนทูตถามพวกเขาว่า เกิดอะไรขึ้นหรือ พวกเขากล่าวตอบว่า ชายคนนี้คือ อัลลามะฮ์ ท่านศาสนทูตกล่าวถามว่า อัลลามะฮ์ คืออะไร ? บรรดาสาวกกล่าวตอบว่า เขาคือผู้รู้มากที่สุดในเรื่องเชื้อสายของชนชาวอาหรับ รู้ความเป็นมาของคนอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮ์อีกทั้งรู้เรื่องบทกวีของชาวอาหรับเป็นอย่างดีด้วย ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า เหล่านี้คือศาสตร์ที่ไม่ได้ทำให้ผู้ไม่รู้เสียประโยชน์แต่อย่างใด หลังจากนั้นท่านศาสดากล่าวต่อว่า แท้จริงความรู้มีสามสิ่งด้วยกัน รู้โองการที่ชัดแจ้ง

Read More...

 อิมามอาลีกับความสมถะ

ท่านศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวกับท่านอิมามอะลีว่า (more…)

Read More...

คนมีปมด้อย

อิมาม ซอดิก (อ) กล่าวว่า ما مِنْ رَجُل تَجَبَّرَ أَؤ تَکَبَّرَ إلاّ لِذِلَّه یَجِدُها قِی نَفْسِهِ “ไม่มีคนใดที่แสดงความโอ้อวดและแสดงตนเหนือผู้อื่น นอกเสียจากว่าเขาพบปมด้อยที่มีในตัวของเขาเอง คำอธิบาย  มีผลสำรวจและคำยืนยันจากนักจิตวิทยาว่า ต้นตอของการโอ้อวดและการยกตนเหนือกว่าผู้อื่นมาจากปมด้อย  เป็นปมด้อยที่ผู้ที่ประสพกับปัญหาทางจิตนี้ต้องทนทุกข์ทรมาน  เพื่อเป็นการชดเชยและปกปิดปมด้อยของตัวเองจึงแสดงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นซึ่งถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจยิ่ง 

Read More...

Leave a reply:

Your email address will not be published.

Mobile Sliding Menu