บทบาทของมารดาต่อสถาบันครอบครัว

บทความนี้จะกล่าวถึงบทบาทของมารดาที่มีต่อสถาบันครอบครัว และจะกล่าวถึง บทบาทหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของสตรี ทั้ง 3 บทบาทนั่นก็คือ 

1. บทบาทของการเป็นบุตรสาว 

2. บทบาทของการเป็นภรรยา

3. บทบาทของการเป็นมารดา ซึ่งทั้งสามบทบาทนี้อัลกุรอานได้ยกย่องบทบาทแห่งการเป็นมารดาไว้มากที่สุด 

นอกจากนี้อัลกุรอานยังได้แบ่งภาระหน้าที่ระหว่างสตรีและบุรุษ ด้านการดูแลบุตรไว้ให้เป็นหน้าที่ของมารดา ซึ่งสามารถศึกษาภาระหน้าที่ดังกล่าวจากคัมภีร์อัลกุรอานได้ 2 แนวทางด้วยกันคือ

1. ศึกษาได้โดยตรงจากบทบัญญัติในคัมภีร์อัลกุรอาน

2. ศึกษาได้จากมารดาตัวอย่างที่ใช้ชีวิตจนประสบความสำเร็จ

ดังที่อัลกุรอานได้ยกย่องไว้ มีสามท่านด้วยกันคือ

1.  ท่านหญิงมัรยัม

2. มารดาของท่านนบีอีซา (อ.)

3. มารดาของท่านนบีมูซา (อ.)

และในตอนท้ายของบทความนี้ จะกล่าวถึงคุณค่าของมารดาในทัศนะของอัลกุรอาน  ตลอดจนบทบาทอันยิ่งใหญ่ของมารดา และผลพวงแห่งการดูแลบุตรที่มีผลต่อการสร้างสังคม

สถาบันครอบครัว คือสถาบันหลักของสังคม และเป็นสถาบันแรกแห่งการเผยแผ่วัฒนธรรม ศีลธรรม ประเพณี ความคิดและความรู้สึก จากรุ่นลูกสู่รุ่นหลานสืบต่อไป  มารดาคือผู้ที่มีบทบาทยิ่งต่อสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีการดำเนินชีวิตบนพื้นฐานแห่งความถูกต้อง ตามแบบฉบับของอิสลาม เริ่มตั้งแต่น้ำนมแม่ซึ่งเป็นอาหารแรกที่ประเสริฐสุดของทารก  และอ้อมกอดของแม่ก็เป็นสถานพำนักแรกที่ดีเยี่ยมสำหรับการเลี้ยงดูบุตร

ตามบทบัญญัติในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน บทบาทหน้าที่ที่สูงส่งควรค่าแก่การสรรเสริญสำหรับสตรี ก็คือ บทบาทแห่งการเป็นแม่ และหน้าที่แห่งการดูแลบุตร

สามบทบาทที่ยิ่งใหญ่สำหรับสตรี

ตามกฎแห่งธรรมชาติและกฎแห่งการสรรสร้างแล้วสตรีจะมีบทบาทหน้าที่ที่สำคัญยิ่ง สามบทบาทด้วยกันคือ :

1. บทบาทแห่งการเป็นบุตรี

2. บทบาทแห่งการเป็นภรรยา 

3. บทบาทแห่งการเป็นมารดา

ระหว่างสามบทบาทหน้าที่นี้ บทบาทแห่งการเป็นมารดา เป็นบทบาทที่เหมาะสมแก่การยกย่องสรรเสริญสตรีมากที่สุด 

บทบาทสตรีในฐานะบุตรีของครอบครัว

อัลกุรอานได้กล่าวถึงทั้งสามบทบาทไว้แล้วก่อนหน้านี้ โดยมิได้บ่งบอกไว้ว่าทั้งสามบทบาทนั้นมีตำแหน่งที่เท่าเทียมกัน  แต่อัลกุรอานได้ระบุบทบาทของสตรีในฐานะบุตรสาวของครอบครัว ไว้ 3 ประการด้วยกัน คือ

  1. บุตรีเป็นผู้ปกป้องศักดิ์ศรีแห่งการเป็นบุตรสาวและสตรีของครอบครัว

อัลกุรอานได้ให้ความสำคัญกับตำแหน่งของบุตรีและสตรีไว้อย่างมากมาย  และได้ประณามการกระทำที่โหดร้ายของผู้กดขี่ และพวกเลวทรามต่ำช้า ซึ่งพบมากในวัฒนธรรมของพวกอาหรับญาฮิลียะฮ์ 

ในอัลกุรอานมีหลายโองการด้วยกันที่กล่าวตำหนิการกระทำของพวกดูหมิ่นเหยียดหยามสตรีและบุตรสาว ถึงขั้นที่ว่าพวกเขาเป็นมนุษย์ผู้ไร้ค่า และไม่สมควรที่จะศรัทธาพระเจ้าองค์เดียว

พวกเจ้าทั้งหลายอย่าฆ่าลูก ๆ ของพวกเจ้าเพราะกลัวจน เพราะเราให้โชคผลแก่พวกเขา และพวกเจ้า แท้จริงการฆ่าพวกเขาเป็นบาปมหันต์ (ซูเราะฮ์อิสรออ์ โองการที่ 31)

และเมื่อทารกหญิงที่ถูกฝัง (ได้ฟื้นคืนชีพและ) ถูกถามว่า เพราะความผิดอันใดหรือที่เธอถูกฆ่า (ซูเราะฮ์อัตตักวีร โองการที่8-9)

  1. บุตรีเป็นผู้รู้จักบุคลิกภาพและจิตวิทยาของมนุษย์เป็นอย่างดี

อัลกุรอานได้กล่าวถึงวิทยปัญญาที่สูงส่งและล้ำลึก ด้านการรู้จักบุคคลได้อย่างถูกต้องของบุตรี ตัวอย่างเช่นบุตรีของท่านนบีชุอัยบ์ (อ.) หลังจากที่นางได้พบกับท่านนบีมูซา (อ.) เพียงระยะเวลาสั้น ๆ  ขณะที่ไปตักน้ำให้กับฝูงแพะ และเมื่อนางเดินทางกลับบ้าน นางได้เล่าให้บิดาของนางฟังว่า โอ้บิดา จงว่าจ้างเขาเถิด แท้จริงที่ประเสริฐสุดแห่งบุคคลที่ท่านว่าจ้าง ก็คือผู้มีความแข็งแรงอีกทั้งซื่อสัตย์ (คนนี้) (ซูเราะฮ์กอศอศ โองการที่ 26)

จากเรื่องราวของท่านนบีมูซา (อ.) กับบุตรสาวของท่านนบีชุอัยบ์ (อ.) ดังโองการอัลกุรอานข้างต้น  เป็นเครื่องชี้ชัดว่าสตรีเป็นผู้มีสติปัญญา พรสวรรค์ และจิตวิทยาที่แข็งแกร่งล้ำลึก โดยเฉพาะในเรื่องของการเลือกคู่ครอง

  1. บุตรีเปี่ยมไปด้วยความสามารถด้านข้อมูลข่าวสาร

บุตรสาวเหมาะสมยิ่งที่จะเข้าไปอยู่ในวงการของการเผยแผ่ข้อมูลข่าวสารที่สลับซับซ้อน โดยเฉพาะในสังคมปิด ดังเช่นเรื่องราวของท่านนบีมูซา (อ.)  หรือแม้แต่เรื่องราวของพี่สาวท่านนบีมูซา (อ.)ที่คอยเฝ้าดูท่านนบีมูซา (อ.) แทนมารดา คอยติดตามและสะกดรอยตามท่านนบีมูซา (อ.) จนสามารถทำหน้าที่และรับผิดชอบตำแหน่งที่เหมาะสมนั้นได้ ตั้งแต่ย่างก้าวเข้าไปในวังของฟิรอูน จนกระทั่งนำท่านนบีมูซา (อ.) กลับคืนสู้อ้อมอกของมารดาของท่านได้สมหวังดังตั้งใจ

และนางได้ปรารภกับพี่สาวของเขา เธอจงออกสืบหาข่าวของเขาเถิด (จากนั้นพี่สาวของมูซาก็ออกเดินทาง) แล้วนางก็มองเห็นเขาจาก (สถานที่อัน) ห่างไกลโดยพวกเขาไม่รู้ตัว และเราได้หักห้ามเขา (มิให้ดื่มนมจาก) บรรดาแม่นม (ที่ฟิรอูนจัดหาให้) เมื่อก่อน (เมื่อนางมองเห็นเช่นนั้น) นางจึงพูดขึ้นว่า เอาไหมข้าจะชี้แนะพวกท่านให้ไปหาครอบครัวหนึ่งซึ่งพวกเขาจะเลี้ยงดูเด็กคนนี้ได้เพื่อพวกท่าน และพวกเขาล้วนเป็นผู้หวังดีต่อเขา จากนั้นเราจึงให้เขาคืนสู่มารดาของเขา (อีกครั้งหนึ่ง) เพื่อความสุขแห่งนาง และเพื่อนางจะได้ไม่เศร้าโศก (อีกต่อไป) (ซูเราะฮ์กอศอศ โองการที่ 11-13)

บทบาทของสตรีในฐานะภรรยา

สตรีในฐานะภรรยาตามทัศนะของอัลกุรอาน ถือเป็นบทบาทที่สำคัญยิ่งทั้งต่อสถาบันครอบครัว และสังคม

– บทบาทของภรรยาต่อสถาบันครอบครัว

  1. ภรรยาช่วยเติมเต็มชีวิตของสามีให้สมบูรณ์

อัลกุรอานได้กล่าวถึงการสร้างคู่ครองของสิ่งมีชีวิต อาทิ มนุษย์ ไว้หลายโองการด้วยกัน ซึ่งก็หมายความรวมถึงบุคคลทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นบุรุษหรือสตรี ในแง่ของพื้นฐานแห่งความเป็นมนุษย์ ทั้งสองมีความเหมือนกันทั้งในด้านของคุณค่า การแสวงหาความสมบูรณ์ และความเป็นเอกลักษณ์ของมนุษย์ ตลอดจนเป็นผู้เติมเต็มความสมบูรณ์ให้กันและกัน ซึ่งทุกคู่ไม่สามารถที่จะทำสิ่งใดด้วยตนเองได้โดยปราศจากคู่ครองของตน ไม่ว่าจะเป็นการขยายเผ่าพันธุ์ผู้สืบทอดวงศ์ตระกูล นอกเสียจากการมีคู่ครองที่อยู่เคียงข้างกันและเหมาะสมกันเท่านั้น  หากไม่เช่นนั้นแล้วคำว่าคู่ครองจะไม่มีความหมายอีกต่อไป ซึ่งก็หมายถึงจากชีวิตคู่ก็จะกลายเป็นการหย่าร้างและเลิกรานั่นเอง

โอ้มวลมนุษย์ทั้งหลาย พวกเจ้าจงยำเกรงองค์อภิบาลของพวกเจ้า ซึ่งทรงบันดาลพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง (คืออาดัม) และได้บันดาลจากชีวิตนั้น ซึ่งคู่ครองของเขา (ฮาวา) (ซูเราะฮ์นิซาอ์ โองการที่1)

  1. ภรรยาช่วยสืบทอดเผ่าพันธุ์ของมนุษย์

ตามโองการอัลกุรอานข้างตน หลังจากที่พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงสร้างคู่ครองให้กับท่านนบีอาดัม (อ.) และพระนางฮาวาแล้ว พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ทรงตรัสว่า และพระองค์ทรงแพร่พันธุ์ไปจากทั้งสองซึ่งผู้ชายและผู้หญิงจำนวนมาก”

จากโองการดังกล่าวจะเห็นได้ว่า พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ได้ให้ทั้งชายและหญิงมีบทบาทหน้าที่ร่วมกันในการขยายเผ่าพันธุ์มนุษย์ และสตรีก็เท่าเทียมกับบุรุษในภาระหน้าที่นี้ด้วย แต่ในสมัยอาหรับญาฮิลียะฮ์ สตรีถูกเหยียดหยามให้เป็นเพียงภาชนะสำหรับรองรับกามารมณ์ของบุรุษเพศเท่านั้นเอง นางมิได้มีบทบาทใด ๆ ต่อการร่วมสร้างบุตรหลานเพื่อการสืบทอดเชื้อสายเผ่าพันธุ์ด้วยเลย รวมทั้งยังถูกมองข้ามสิทธิแห่งการเป็นมารดาอีกด้วย

  1. ภรรยาเป็นผู้สร้างความสงบสุขทางใจให้สามี

ซูเราะฮอัร-รูม โองการที่ 21 ความว่า และบางสัญลักษณ์ของพระองค์ คือ ที่พระองค์ทรงบันดาลคู่ครองแก่พวกเจ้ามาจากตัวของพวกเจ้าเอง ทั้งนี้เพื่อพวกเจ้าจะได้สงบอยู่กับนาง และพระองค์ทรงบันดาลความรัก และเมตตาให้มีขึ้นระหว่างพวกเจ้า

  1. ภรรยาเป็นผู้ปกปิดและขจัดความบกพร่องของสามี

จากทฤษฎีของอัลกุรอาน  บุรุษและสตรี เปรียบเสมือนอาภรณ์ของกันและกัน ดังซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 187 ความว่า พวกนางเป็นดั่งอาภรณ์ของพวกเจ้า และพวกเจ้าก็เป็นดั่งอาภรณ์ของพวกนาง

การตีความคำว่า อาภรณ์ นั้นคือ ตำแหน่งคู่ครองของทั้งบุรุษและสตรี  คือทั้งสองมีภาระหน้าที่เดียวกัน เป็นคู่ครองของกันและกัน  ดูแลซึ่งกันและกัน  และปกป้องคุ้มครองกันและกัน  

  1. ภรรยาเป็นที่ปรึกษาของครอบครัว

พระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) กล่าวในอัลกุรอานไว้สองซูเราะฮ์ด้วยกัน ว่าสตรีนั้นคือที่ปรึกษาของสามี และบรรดาหญิงผู้ให้กำเนิดนางต้องให้นมแก่บรรดาลูก ๆ ของนางในระยะสองขวบโดยครบสมบูรณ์ แต่ถ้าเขาทั้งสองต้องการหย่านมลูกโดยความพอใจของทั้งสอง และโดยการปรึกษากันแล้วแน่นอนย่อมไม่เป็นบาปแก่ทั้งสอง (ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่233)

 และพวกเจ้าจงปรึกษาระหว่างพวกเจ้าโดยคุณธรรม (ซูเราะฮ์อัฏฏอลาก โองการที่6)

  1. ตอบสนองความต้องการของสามี

(ซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 223) ความว่า สตรีที่เป็นภรรยาของพวกเจ้าก็คือไร่นาของพวกเจ้านั่นเอง ดังนั้นเจ้าทั้งหลายจงเข้าสู่ไร่นาของพวกเจ้าตามแต่พวกเจ้าพึงประสงค์เถิด

จะเห็นได้ว่า โองการข้างต้นส่งเสริมให้สตรีตอบสนองความต้องการทางเพศ และตอบสนองความใคร่ของสามี  ในทุกเวลาและทุกสถานที่ที่คิดว่าจำเป็น เพื่อเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาทางเพศของสังคม  และสตรีคือผู้ที่สร้างความพึงพอใจ และสร้างความหนักแน่นและความอิ่มตัวทางเพศให้กับสามีของตน

– บทบาทของภรรยาต่อสังคม

อัลกุรอานกล่าวถึงภรรยาของท่านนบีนูห์ (อ.) และท่านนบีลูฏ (อ.)ไว้เป็นตัวอย่างของผู้ปฏิเสธ และผู้ไร้ซึ่งความศรัทธา ขณะเดียวกันภรรยาของฟิรอูน ถือเป็นตัวอย่างที่ดีสำหรับบุรุษและสตรีทั้งมวล

 อัลลอฮ์ได้ยกอุทาหรณ์หนึ่งแก่บรรดาพวกไร้ศรัทธา ภรรยาของนูห์ และภรรยาของลูฏ ซึ่งนางทั้งสองอยู่ภายใต้บ่าวสองคนที่มาจากกลุ่มบ่าวที่ดีของเรา แต่แล้วนางทั้งสองกลับบ่อนทำลายบ่าวทั้งสอง ดังนั้นนบีทั้งสองจึงไม่อาจป้องกันนางทั้งสองให้พ้นจากการลงทัณฑ์ของอัลลอฮ์ได้ สักเพียงสิ่งเดียวก็ตาม และมีผู้กล่าวว่า เจ้าทั้งสองจงเข้านรก พร้อมกับบรรดาจำพวกที่เข้านรกเถิด (ซูเราะฮ์อัตตะห์รีม โองการที่10-11)  และอัลลอฮ์ (ซบ.) ยกเรื่อยราวภรรยาฟิรอูนเป็นอุทาหรณ์หนึ่งแก่มวลผู้ศรัทธาเมื่อนางได้กล่าวว่า โอ้ผู้ทรงอภิบาล โปรดสร้างบ้านหลังหนึ่งให้ข้าพเจ้าในสวรรค์ และโปรดยัง ความปลอดภัยแก่ข้าพเจ้าจากฟิรอูน และผลงานของเขา และโปรดยังความปลอดภัยแก่ข้าพเจ้า จากกลุ่ม ทุจริตชนทั้งมวลเถิด”

บทบาทสตรีในฐานะมารดา

– พัฒนาบุตรด้วยอ้อมกอดของมารดา

อัลกุรอานบัญญัติไว้ว่าสถาบันครอบครัว คือ สถาบันแรกในการเลี้ยงดู และพัฒนาบุตรให้เป็นผู้มีศักยภาพ ซึ่งการเลี้ยงดูบุตรจะมีประสิทธิผลได้นั้น ขึ้นอยู่กับบิดาและมารดาเป็นผู้กำหนด ดังในซูเราะฮ์อัลบะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 233 ความว่า และมารดาทั้งหลายนั้นจะให้นมแก่ลูก ๆ ของนางภายในสองปีเต็ม สำหรับผู้ที่ต้องการจะให้ครบถ้วนในการให้นม และหน้าที่ของพ่อนั้นคือปัจจัยยังชีพของพวกนางและเครื่องนุ่งห่มของพวกนางโดยชอบธรรม ไม่มีชีวิตใดจะถูกบังคับนอกจากเท่าที่ชีวิตนั้นมีกำลังความสามารถเท่านั้น (ทั้งพ่อและแม่ไม่สิทธิที่จะสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นแก่ลูก เพราะความขัดแย้งกัน)

บางคนเชื่อกันว่า การแบ่งหน้าที่นี้ขึ้นอยู่กับช่วงสมัยและระยะเวลา เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วแม่มักจะเป็นผู้ที่อยู่กับบ้าน ในอีกแง่มุมหนึ่งอัลกุรอานได้กำหนดให้หน้าที่เลี้ยงดูบุตรนั้น เป็นใครก็ได้ จะเป็นพ่อ หรือเป็นคนอื่น ที่เป็นตัวแทนแม่ มาทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรก็ได้  และสามารถหาอาหารอื่นที่มีประโยชน์ มาใช้เลี้ยงบุตรแทนนมแม่ก็ได้

สามารถกล่าวได้ว่า การแบ่งหน้าที่ระหว่างพ่อและแม่ตามทฤษฎีของอัลกุรอานนั้น ไม่ใช่เป็นการหน้าที่แบบตามอำเภอใจ ซึ่งจะสร้างความเสื่อมเสียแก่สถาบันแห่งการสรรสร้างมนุษย์  แต่เป็นการแบ่งหน้าที่บนพื้นฐานแห่งความแตกต่างของการสรรสร้างชายและหญิง เพราะบุรุษเพศ มีความแข็งแกร่งทางสรีระร่างกาย สามารถอดทนต่อสู้กับงานหนัก และความรุนแรงต่าง ๆ ได้ ดังนั้นบุรุษจึงต้องแบกรับหน้าที่ในการทำงานนอกบ้านเพื่อหาเงินมาเลี้ยงดูครอบครัว  สำหรับสตรีแล้ว สตรีเป็นผู้มีความอ่อนโยน มีเมตตาเป็นพื้นฐานหลักของหัวใจ อีกทั้งเป็นผู้แสวงหาความสันติ และอดทน นางจึงเหมาะสมกับหน้าที่ในการเลี้ยงดูบุตรให้เป็นคนดี

ในโลกแห่งความเป็นจริงแล้ว ปัจจุบันกลับกลายเป็นการเกิดช่องว่างระหว่างแม่กับลูก เนื่องจากแม่ต้องออกไปทำงานนอกบ้าน ทำให้เห็นได้ชัดว่า เมื่อเวลาผ่านพ้นไป ทุกสิ่งจะประจักษ์ชัดว่า ไม่มีสิ่งใดที่จะมาทดแทนนมแม่ และไม่มีความรักใด ความสงบสุขใด ที่จะมาทดแทนอ้อมกอดของแม่ได้

 

Exit mobile version