คมดาบและหัวใจ

In อะฮ์ลุลบัยต์

คมดาบและหัวใจ

“หัวใจของพวกเขาอยู่กับท่านก็จริง แต่คมดาบของพวกเขากำลังมุ่งประหารท่าน”
ประโยคหนึ่งที่เป็นประโยคที่แสนจะขมขื่นที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์คือประโยคที่ว่า “หัวใจของพวกเขาอยู่กับท่านก็จริง แต่คมดาบของพวกเขากำลังมุ่งประหารท่าน”  

เรื่องราวเกี่ยวกับประโยคข้างต้นนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ “เมาซูอะฮ์ กะลีมาต อิมามฮุเซน (อ) ” โดยกล่าวไว้ว่า – เมื่อครั้งที่ท่านอิมามฮุเซน (อ) ได้เดินทางออกจากเมืองมะดีนะฮ์ท่านได้พบกับนักกวีหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ฟะรอซดัก ท่านอิมามถามถึงสถานการณ์ในเมืองกูฟะฮ์ ฟะรอซดัก กล่าวตอบว่า – ท่านเป็นที่รักที่สุดในหมู่ประชาชาติ ….. แต่คมหอกคมดาบ (ที่กำลังมุ่งประหัตประหารท่าน) อยู่กับตระกูลอุมัยยะฮ์
ในหนังสือ “ตารีค เฏาะบะรีย์” ได้บันทึกรายงานเกี่ยวกับประโยคดังกล่าวไปในอีกรูปแบบหนึ่งโดยกล่าวว่า – หัวใจของพวกเขา (ชาวกูฟะฮ์) อยู่กับท่านแต่คมดาบของพวกเขาอยู่กับตระกูลอุมัยยะฮ์
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ฟะรอซดัก ได้เข้าเป็นนักกวีในราชวังของตระกูลอุมัยยะฮ์ โดยได้แต่งบทกลอนมากมายเกี่ยวกับผู้ปกครองของราชวงศ์อุมัยยะฮ์   และจากคำสนทนาในรายงานข้างต้นอิมามกล่าวเป็นเชิงสนับสนุนและยอมรับความเห็นของฟะรอซดัก ซึ่งทำให้เห็นว่าท่านอิมามเองก็เข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นแล้ว  อีกทั้งอิมามก็รู้ถึงธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร โดยท่านอิมามกล่าวกับ ฟะรอซดักว่า – สิ่งที่เจ้าพูดนั้นถูกต้องแล้ว ผู้คนทั้งหลายล้วนตกเป็นทาสของโลกแห่งวัตถุ สำหรับพวกเขาศาสนาเป็นเพียงลมปากของพวกเขาเท่านั้น  พวกเขาจะเรียกร้องหาศาสนาเมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อถึงเวลาที่ศาสนาเรียกร้องพวกเขา เมื่อนั้นจะเห็นว่าผู้ศรัทธาที่แท้จริงมันช่างน้อยเหลือเกิน
จากคำกล่าวของอิมามข้างต้นทำให้เห็นว่า ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ พวกเขาจะละเลยไม่ให้ความสำคัญกับพระผู้เป็นเจ้าแต่สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกทางวัตถุแล้วมนุษย์ไม่เคยละเลยสิ่งเหล่านั้นเลย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นผลทำให้ความเป็นนมนุษย์นั้นหมดสิ้นลงทีละน้อย ๆ  ดังโองการกุรอานที่กล่าวว่า – ประชาชนบางกลุ่มจะสักการะพระผู้เป็นเจ้าด้วยคำพูดของเขาเท่านั้น
จากตรงนี้คงมีคนตั้งคำถามว่า – จิตใจกับการกระทำมันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะบอกว่าหัวใจของเราเต็มไปด้วยความรักให้กับอิมามฮุเซน (อ) แต่เมื่ออิมามเรียกร้องเราให้ร่วมต่อสู้เรากลับหันหน้าหนี ?
หากพิจารณาจากโองการในอัลกุรอาน เราสามารถจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับการกระทำไปใน 4 รูปแบบด้วยกัน
1. มนุษย์คนหนึ่งสามารถมีคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบที่สุดได้ คือมีจิตใจที่งดงาม อีกทั้งมีรูปแบบการปฏิบัติที่สวยงามถึงแม้ว่าความสมบูรณ์ดังกล่าวนี้เราจะพบได้ในหมู่บรรดาศาสดาและบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์เท่านั้น แต่เราก็สามารถพบความสมบูรณ์แบบดังกล่าวโดยมีระดับความสมบูรณ์รองลงมาได้จากบรรดาผู้ศรัทธาที่แท้จริงทั้งหลายด้วยเช่นกัน
2.มีมนุษย์บางกลุ่มอีกเช่นกันที่มีทั้งจิตใจและการกระทำที่เลวร้าย ทุกครั้งที่คนเหล่านี้พูดจะเผยความเลวร้ายในจิตใจของพวกเขาออกมาอย่างชัดเจน ดังในโองการที่ 88 ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ได้กล่าวไว้ว่า“พวกเขา (ชาวยิวในสมัยนบีมูฮำมัด) ได้กล่าวว่า หัวใจของพวกเรามีสิ่งปิดกั้น (จึงไม่สามารถจดจำคำประกาศของท่านได้) แต่ความเป็นจริงอัลลอฮ ได้สาปแช่งพวกเขา เพราะการปฏิเสธของพวกเขา ดังนั้นจึงมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่พวกเขาศรัทธา
ในซูเราะห์นิซาโองการที่ 155 กล่าวว่า  “และเพราะพวกเขากล่าวว่า อันหัวใจของพวกเราถูกปิดสนิท (ไม่อาจรับคำสอนแห่งอิสลามที่นบีมูฮำมัด ได้นำมา” (ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว หัวใจพวกเขาได้ปิดไม่) หากทว่าอัลลอฮได้ทรงประทับไว้บนหัวใจของพวกเขา เพราะความเนรคุณของพวกเขาเอ แต่พวกเขาไม่ศรัทธา (ในคำประกาศของนบีมูฮำมัด) นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ที่ศรัทธา)

ในซูเราะห์ฟุตซิลัต โองการที่ 5 กล่าวว่า “และพวกเขากล่าวว่า “ หัวใจของพวกเราอยู่ภายในฝากั้นหลายชั้น (จนเป็นอุปสรรค) ต่อความเข้าใจในสิ่งที่พวกท่านเรียกร้องพวกเราไปสู่มัน และในหูของเราก็มีความหนาว อีกทั้งระหว่างพวกเรากับท่านนั้นมีฉากกั้น (จนรวมกันไม่ได้) ดังนั้นท่านจงทำไปเถิด (ตามคำสอนของศาสนาของท่าน) ส่วนพวกเรานั้นก็ทำ (ไปตามความเชื่อของเราตามเดิม)

ในซูเราะห์นัมล์ โองการที่ 14 กล่าวว่า “และพวกเขาปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น เพราะความฉ้อฉลและความหยิ่งยะโส ทั้ง ๆ ที่จิตใจของพวกเขามีความมั่นใจในความจริงของมัน

ในซูเราะห์บากอเราะห์โองการที่ 146 กล่าววว่า  “บรรดาปวงชนที่เราได้ประทานคำภีร์ให้ (คือพวกยิวและคริสต์) พวกเขารู้จักมูฮำมัด (เป็นอย่างดี) ประดุจเดียวกับพวกเขารู้จัก ลูก ๆ ของพวกเขาเองกระนั้น แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่ง จากพวกเขาปิดบังความจริง (ที่เกี่ยวกับนบีมูฮำมัด) ทั้ง ๆ ที่พวกเขารู้ดี (จากคำภีร์ของพวกเขา ซึ่งระบุถึงเรื่องราวของนบีมูฮำมัดไว้โดยชัดเจน) 

และในซูเราะห์บนีอิสรออีลโองการที่ 84 กล่าวว่า  “จงประกาศเถิด ทุก ๆ คนย่อมกระทำไปตามทัศนะของพวกเขาเอง”

3.สำหรับมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งที่อัลกุรอานเรียกมนุษย์กลุ่มนี้ว่า มุนาฟิก คนกลุ่มนี้จะปิดบังความชั่วร้ายภายในของตัวเองด้วยการปรุงแต่งการกระทำให้ดูงดงาม  คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายที่มีผลถึงผู้ศรัทธาด้วย ในบางกรณีการกระทำของพวกเขาเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์แต่มันมีผลต่อหัวใจของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง  สถาพของคนเหล่านี้ก็เหมือนกับ น้ำสกปรกที่ดูแล้วเหมือนจะเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ แต่เมื่อตีหรือคนลงไปตะกอนที่นอนก้นอยู่จะลอยขึ้นมาเผยให้เห็นถึงความขุ่นมัว
มีโองการมากมายที่กล่าวถึงมนุษย์กลุ่มนี้ แต่จะขอยกรายงานฮะดิษจากท่านอิมามอะลี (อ) ที่กล่าวไว้เกี่ยวกับคุณลักษณะของพวกเขาไว้ว่า – พวกเขาจะมี 3 สิ่งที่ไม่ตรงกันเสมอ 1 – ปากกับใจ  2 – คำพูดกับการกระทำ 3 – จิตใจกับพฤติกรรมภายนอก
4 .ส่วนมนุษย์กลุ่มที่ 4 ก็คือกลุ่มชนที่พฤติกรรมของพวกเขาตรงกับคำกล่าวของฟะรอซดักที่กล่าวกับอิมามฮุเซนว่า   “หัวใจของพวกเขาอยู่กับท่านก็จริง แต่คมดาบของพวกเขากำลังมุ่งประหารท่าน”  นั่นเอง อันที่จริงฟะรอซดักต้องการจะบอกถึงสภาพจิตใจและการกระทำที่ไม่ตรงกันของชาวกูฟะฮ์ให้อิมามได้รับรู้เท่านั้น

แต่อิมามฮุเซน (อ) หมายถึง มนุษย์ทุกคน !!!!
อิมามฮุเซนยอมรับความเห็นของฟะรอซดัก ก็จริงแต่อิมามไม่ได้หมายความถึงชาวกูฟะฮ์เพียงเท่านั้น แต่หมายรวมถึงมนุษย์ทุกคน โดยท่านกล่าวว่า – มนุษย์ทั้งหลายเป็นทาสของโลกแห่งวัตถุ….
พวกเราทุกคนต้องนำคำพูดของอิมามมาเป็นเครื่องเตือนใจในการนับถือศาสนาของพวกเรา เราต้องคอยเฝ้าดูตัวเองอยู่เสมอว่าระหว่างจิตใจของเรากับการกระทำของเรามันสอดคล้องกันหรือไม่  เราต้องดูกว่าการกระทำของพวกเรามันตรงกับใจที่บอกว่ารักอิมามหรือไม่ ?
ถ้าจะถามกันจริง ๆ ว่าทุกวันนี้ เราเห็นคุณสมบัติของชีอะฮ์แท้จริงในสังคมชีอะฮ์ของเราหรือไม่ ? 
ดังนั้นหากพิจารณาจากโองการกุรอานและรายงานฮะดิษจะพบว่าจำเป็นที่เราจะต้องทำให้จิตใจและการกระทำของเราสอดคล้องกัน  การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา โดยคิดว่าเมื่อใจบริสุทธิ์อย่างเดียวก็ถือว่าสมบูรณ์แล้วเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง  ถ้าเรานำเอาคำสั่งใช้ที่ศาสนาให้เราปฏิบัติออกไปคำว่า อะมัล ซอและฮ์ ที่อัลกุรอานเน้นย้ำเรื่องนี้กับเราก็คงไม่เกิดขึ้นในสังคมเราอย่างแน่นอน
มีโองการกุรอาน สามโองการด้วยกันที่ กล่าวถึง บาปภายนอก และบาปภายใน ซึ่งทั้งสองแบบดังกล่าวถูกห้ามไว้

ซูเราะห์อันอาม : 120 “และเจ้าทั้งหลายจงเว้น (การทำ) บาปทั้งโดยเปิดเผยและโดยซ่อนเร้น แท้จริงบรรดา ผู้ประกอบการบาปนั้น พวกเขาจะถูกตอบแทนไปตามที่พวกเขาดำเนินการ

ซูเราะห์อันอาม : 151  “และท่านทั้งหลายอย่าเข้าใกล้บรรดาสิ่งอนาจารทั้งปวง ทั้งที่เปิดเผยและปิดบัง”

ซูเราะห์อะรอฟ : 33 “จงประกาศเถิด “อันที่จริง องค์อภิบาลของฉันได้บัญญัติห้ามบรรดาสิ่งลามกทั้งหลาย ทั้งสิ่งที่ (กระทำ) เปิดเผยและที่ (กระทำโดย) ปิดเร้นจากมัน และ (ทรงบัญญัติห้าม) การบาป การล่วงละเมิด (สิทธิของผู้อื่น) โดยไร้ความชอบธรรม

จากตรงนี้เองพอจะสรุปได้ว่า การกระทำของมนุษย์สามารถเป็นตัววัดพฤติกรรมและสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ได้
มีนักปรัชญาท่านหนึ่งได้ยกตัวอย่างว่า  “หากมารดาไม่ให้ความเอาใจใส่ดูแลบุตร  ไม่ดูแลเรื่องอาหาร ไม่ดูแลเรื่องการอาบน้ำ และทุก ๆ สิ่งให้กับบุตรของตน  บุตรก็ไม่มีวันที่จะมอบความรักความผูกพันให้กับผู้เป็นมารดาอย่างแน่นอน  นั่นก็คือ ความรักของลูกจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขาเห็นว่าผู้เป็นมารดาได้ให้ความรักความเมตตากับเขาอย่างแท้จริงเท่านั้น  สำหรับความรักในสิ่งถูกสร้างอื่นก็เช่นกัน ใช้หลักปรัชญาเดียวกับตัวอย่างที่ยกมา  ถ้าสตรีคนหนึ่งบอกกับเราว่า เขารักดอกไม้  แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ  ส่วนใหญ่แล้วเขาจะลืมรดน้ำดอกไม้ที่เขารัก เป็นธรรมดาอย่างยิ่งที่เราจะไม่เชื่อว่าเขามีความรักให้กับดอกไม้นั้นจริงอย่างที่เขาพูดไว้ เพราะฉะนั้น ความรักที่บอกกันว่ารักนั้น จะต้องเป็นความรักที่แท้จริงและมั่นคง   หากความรักใดไม่ใช่ความรักที่แท้จริงแล้วไซร้ ก็มิอาจเรียกได้ว่าเป็นความรัก

عنوان مقاله : شمشیر و دل

 

You may also read!

ความรู้ที่แท้จริง

รายงานจากท่านอิมามมูซากาซิมว่า เมื่อท่านศาสนทูตเดินเข้ามัสยิดเห็นคนกำลังนั่งล้อมชายคนหนึ่งอยู่ ท่านศาสนทูตถามพวกเขาว่า เกิดอะไรขึ้นหรือ พวกเขากล่าวตอบว่า ชายคนนี้คือ อัลลามะฮ์ ท่านศาสนทูตกล่าวถามว่า อัลลามะฮ์ คืออะไร ? บรรดาสาวกกล่าวตอบว่า เขาคือผู้รู้มากที่สุดในเรื่องเชื้อสายของชนชาวอาหรับ รู้ความเป็นมาของคนอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮ์อีกทั้งรู้เรื่องบทกวีของชาวอาหรับเป็นอย่างดีด้วย ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า เหล่านี้คือศาสตร์ที่ไม่ได้ทำให้ผู้ไม่รู้เสียประโยชน์แต่อย่างใด หลังจากนั้นท่านศาสดากล่าวต่อว่า แท้จริงความรู้มีสามสิ่งด้วยกัน รู้โองการที่ชัดแจ้ง

Read More...

 อิมามอาลีกับความสมถะ

ท่านศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวกับท่านอิมามอะลีว่า (more…)

Read More...

คนมีปมด้อย

อิมาม ซอดิก (อ) กล่าวว่า ما مِنْ رَجُل تَجَبَّرَ أَؤ تَکَبَّرَ إلاّ لِذِلَّه یَجِدُها قِی نَفْسِهِ “ไม่มีคนใดที่แสดงความโอ้อวดและแสดงตนเหนือผู้อื่น นอกเสียจากว่าเขาพบปมด้อยที่มีในตัวของเขาเอง คำอธิบาย  มีผลสำรวจและคำยืนยันจากนักจิตวิทยาว่า ต้นตอของการโอ้อวดและการยกตนเหนือกว่าผู้อื่นมาจากปมด้อย  เป็นปมด้อยที่ผู้ที่ประสพกับปัญหาทางจิตนี้ต้องทนทุกข์ทรมาน  เพื่อเป็นการชดเชยและปกปิดปมด้อยของตัวเองจึงแสดงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นซึ่งถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจยิ่ง 

Read More...

Leave a reply:

Your email address will not be published.

Mobile Sliding Menu