คมดาบและหัวใจ

คมดาบและหัวใจ

“หัวใจของพวกเขาอยู่กับท่านก็จริง แต่คมดาบของพวกเขากำลังมุ่งประหารท่าน”
ประโยคหนึ่งที่เป็นประโยคที่แสนจะขมขื่นที่สุดในหน้าประวัติศาสตร์คือประโยคที่ว่า “หัวใจของพวกเขาอยู่กับท่านก็จริง แต่คมดาบของพวกเขากำลังมุ่งประหารท่าน”  

เรื่องราวเกี่ยวกับประโยคข้างต้นนี้ได้ถูกบันทึกไว้ในหนังสือ “เมาซูอะฮ์ กะลีมาต อิมามฮุเซน (อ) ” โดยกล่าวไว้ว่า – เมื่อครั้งที่ท่านอิมามฮุเซน (อ) ได้เดินทางออกจากเมืองมะดีนะฮ์ท่านได้พบกับนักกวีหนุ่มคนหนึ่งชื่อ ฟะรอซดัก ท่านอิมามถามถึงสถานการณ์ในเมืองกูฟะฮ์ ฟะรอซดัก กล่าวตอบว่า – ท่านเป็นที่รักที่สุดในหมู่ประชาชาติ ….. แต่คมหอกคมดาบ (ที่กำลังมุ่งประหัตประหารท่าน) อยู่กับตระกูลอุมัยยะฮ์
ในหนังสือ “ตารีค เฏาะบะรีย์” ได้บันทึกรายงานเกี่ยวกับประโยคดังกล่าวไปในอีกรูปแบบหนึ่งโดยกล่าวว่า – หัวใจของพวกเขา (ชาวกูฟะฮ์) อยู่กับท่านแต่คมดาบของพวกเขาอยู่กับตระกูลอุมัยยะฮ์
หลังจากเหตุการณ์ในวันนั้น ฟะรอซดัก ได้เข้าเป็นนักกวีในราชวังของตระกูลอุมัยยะฮ์ โดยได้แต่งบทกลอนมากมายเกี่ยวกับผู้ปกครองของราชวงศ์อุมัยยะฮ์   และจากคำสนทนาในรายงานข้างต้นอิมามกล่าวเป็นเชิงสนับสนุนและยอมรับความเห็นของฟะรอซดัก ซึ่งทำให้เห็นว่าท่านอิมามเองก็เข้าใจสถานการณ์ทั้งหมดตั้งแต่ต้นแล้ว  อีกทั้งอิมามก็รู้ถึงธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์อยู่แล้วว่าเป็นอย่างไร โดยท่านอิมามกล่าวกับ ฟะรอซดักว่า – สิ่งที่เจ้าพูดนั้นถูกต้องแล้ว ผู้คนทั้งหลายล้วนตกเป็นทาสของโลกแห่งวัตถุ สำหรับพวกเขาศาสนาเป็นเพียงลมปากของพวกเขาเท่านั้น  พวกเขาจะเรียกร้องหาศาสนาเมื่อมีผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง แต่เมื่อถึงเวลาที่ศาสนาเรียกร้องพวกเขา เมื่อนั้นจะเห็นว่าผู้ศรัทธาที่แท้จริงมันช่างน้อยเหลือเกิน
จากคำกล่าวของอิมามข้างต้นทำให้เห็นว่า ในการดำรงชีวิตของมนุษย์ พวกเขาจะละเลยไม่ให้ความสำคัญกับพระผู้เป็นเจ้าแต่สำหรับสิ่งอำนวยความสะดวกทางวัตถุแล้วมนุษย์ไม่เคยละเลยสิ่งเหล่านั้นเลย ซึ่งการกระทำดังกล่าวเป็นผลทำให้ความเป็นนมนุษย์นั้นหมดสิ้นลงทีละน้อย ๆ  ดังโองการกุรอานที่กล่าวว่า – ประชาชนบางกลุ่มจะสักการะพระผู้เป็นเจ้าด้วยคำพูดของเขาเท่านั้น
จากตรงนี้คงมีคนตั้งคำถามว่า – จิตใจกับการกระทำมันมีความสัมพันธ์กันอย่างไร เป็นไปได้หรือไม่ที่เราจะบอกว่าหัวใจของเราเต็มไปด้วยความรักให้กับอิมามฮุเซน (อ) แต่เมื่ออิมามเรียกร้องเราให้ร่วมต่อสู้เรากลับหันหน้าหนี ?
หากพิจารณาจากโองการในอัลกุรอาน เราสามารถจะพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างจิตใจกับการกระทำไปใน 4 รูปแบบด้วยกัน
1. มนุษย์คนหนึ่งสามารถมีคุณสมบัติที่สมบูรณ์แบบที่สุดได้ คือมีจิตใจที่งดงาม อีกทั้งมีรูปแบบการปฏิบัติที่สวยงามถึงแม้ว่าความสมบูรณ์ดังกล่าวนี้เราจะพบได้ในหมู่บรรดาศาสดาและบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์เท่านั้น แต่เราก็สามารถพบความสมบูรณ์แบบดังกล่าวโดยมีระดับความสมบูรณ์รองลงมาได้จากบรรดาผู้ศรัทธาที่แท้จริงทั้งหลายด้วยเช่นกัน
2.มีมนุษย์บางกลุ่มอีกเช่นกันที่มีทั้งจิตใจและการกระทำที่เลวร้าย ทุกครั้งที่คนเหล่านี้พูดจะเผยความเลวร้ายในจิตใจของพวกเขาออกมาอย่างชัดเจน ดังในโองการที่ 88 ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ได้กล่าวไว้ว่า“พวกเขา (ชาวยิวในสมัยนบีมูฮำมัด) ได้กล่าวว่า หัวใจของพวกเรามีสิ่งปิดกั้น (จึงไม่สามารถจดจำคำประกาศของท่านได้) แต่ความเป็นจริงอัลลอฮ ได้สาปแช่งพวกเขา เพราะการปฏิเสธของพวกเขา ดังนั้นจึงมีเพียงเล็กน้อยเท่านั้นที่พวกเขาศรัทธา
ในซูเราะห์นิซาโองการที่ 155 กล่าวว่า  “และเพราะพวกเขากล่าวว่า อันหัวใจของพวกเราถูกปิดสนิท (ไม่อาจรับคำสอนแห่งอิสลามที่นบีมูฮำมัด ได้นำมา” (ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว หัวใจพวกเขาได้ปิดไม่) หากทว่าอัลลอฮได้ทรงประทับไว้บนหัวใจของพวกเขา เพราะความเนรคุณของพวกเขาเอ แต่พวกเขาไม่ศรัทธา (ในคำประกาศของนบีมูฮำมัด) นอกจากเพียงเล็กน้อยเท่านั้น (ที่ศรัทธา)

ในซูเราะห์ฟุตซิลัต โองการที่ 5 กล่าวว่า “และพวกเขากล่าวว่า “ หัวใจของพวกเราอยู่ภายในฝากั้นหลายชั้น (จนเป็นอุปสรรค) ต่อความเข้าใจในสิ่งที่พวกท่านเรียกร้องพวกเราไปสู่มัน และในหูของเราก็มีความหนาว อีกทั้งระหว่างพวกเรากับท่านนั้นมีฉากกั้น (จนรวมกันไม่ได้) ดังนั้นท่านจงทำไปเถิด (ตามคำสอนของศาสนาของท่าน) ส่วนพวกเรานั้นก็ทำ (ไปตามความเชื่อของเราตามเดิม)

ในซูเราะห์นัมล์ โองการที่ 14 กล่าวว่า “และพวกเขาปฏิเสธสิ่งเหล่านั้น เพราะความฉ้อฉลและความหยิ่งยะโส ทั้ง ๆ ที่จิตใจของพวกเขามีความมั่นใจในความจริงของมัน

ในซูเราะห์บากอเราะห์โองการที่ 146 กล่าววว่า  “บรรดาปวงชนที่เราได้ประทานคำภีร์ให้ (คือพวกยิวและคริสต์) พวกเขารู้จักมูฮำมัด (เป็นอย่างดี) ประดุจเดียวกับพวกเขารู้จัก ลูก ๆ ของพวกเขาเองกระนั้น แต่ก็มีคนกลุ่มหนึ่ง จากพวกเขาปิดบังความจริง (ที่เกี่ยวกับนบีมูฮำมัด) ทั้ง ๆ ที่พวกเขารู้ดี (จากคำภีร์ของพวกเขา ซึ่งระบุถึงเรื่องราวของนบีมูฮำมัดไว้โดยชัดเจน) 

และในซูเราะห์บนีอิสรออีลโองการที่ 84 กล่าวว่า  “จงประกาศเถิด ทุก ๆ คนย่อมกระทำไปตามทัศนะของพวกเขาเอง”

3.สำหรับมนุษย์อีกกลุ่มหนึ่งที่อัลกุรอานเรียกมนุษย์กลุ่มนี้ว่า มุนาฟิก คนกลุ่มนี้จะปิดบังความชั่วร้ายภายในของตัวเองด้วยการปรุงแต่งการกระทำให้ดูงดงาม  คนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมที่เป็นอันตรายที่มีผลถึงผู้ศรัทธาด้วย ในบางกรณีการกระทำของพวกเขาเกิดจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์แต่มันมีผลต่อหัวใจของมนุษย์อย่างลึกซึ้ง  สถาพของคนเหล่านี้ก็เหมือนกับ น้ำสกปรกที่ดูแล้วเหมือนจะเป็นน้ำสะอาดบริสุทธิ์ แต่เมื่อตีหรือคนลงไปตะกอนที่นอนก้นอยู่จะลอยขึ้นมาเผยให้เห็นถึงความขุ่นมัว
มีโองการมากมายที่กล่าวถึงมนุษย์กลุ่มนี้ แต่จะขอยกรายงานฮะดิษจากท่านอิมามอะลี (อ) ที่กล่าวไว้เกี่ยวกับคุณลักษณะของพวกเขาไว้ว่า – พวกเขาจะมี 3 สิ่งที่ไม่ตรงกันเสมอ 1 – ปากกับใจ  2 – คำพูดกับการกระทำ 3 – จิตใจกับพฤติกรรมภายนอก
4 .ส่วนมนุษย์กลุ่มที่ 4 ก็คือกลุ่มชนที่พฤติกรรมของพวกเขาตรงกับคำกล่าวของฟะรอซดักที่กล่าวกับอิมามฮุเซนว่า   “หัวใจของพวกเขาอยู่กับท่านก็จริง แต่คมดาบของพวกเขากำลังมุ่งประหารท่าน”  นั่นเอง อันที่จริงฟะรอซดักต้องการจะบอกถึงสภาพจิตใจและการกระทำที่ไม่ตรงกันของชาวกูฟะฮ์ให้อิมามได้รับรู้เท่านั้น

แต่อิมามฮุเซน (อ) หมายถึง มนุษย์ทุกคน !!!!
อิมามฮุเซนยอมรับความเห็นของฟะรอซดัก ก็จริงแต่อิมามไม่ได้หมายความถึงชาวกูฟะฮ์เพียงเท่านั้น แต่หมายรวมถึงมนุษย์ทุกคน โดยท่านกล่าวว่า – มนุษย์ทั้งหลายเป็นทาสของโลกแห่งวัตถุ….
พวกเราทุกคนต้องนำคำพูดของอิมามมาเป็นเครื่องเตือนใจในการนับถือศาสนาของพวกเรา เราต้องคอยเฝ้าดูตัวเองอยู่เสมอว่าระหว่างจิตใจของเรากับการกระทำของเรามันสอดคล้องกันหรือไม่  เราต้องดูกว่าการกระทำของพวกเรามันตรงกับใจที่บอกว่ารักอิมามหรือไม่ ?
ถ้าจะถามกันจริง ๆ ว่าทุกวันนี้ เราเห็นคุณสมบัติของชีอะฮ์แท้จริงในสังคมชีอะฮ์ของเราหรือไม่ ? 
ดังนั้นหากพิจารณาจากโองการกุรอานและรายงานฮะดิษจะพบว่าจำเป็นที่เราจะต้องทำให้จิตใจและการกระทำของเราสอดคล้องกัน  การไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติศาสนา โดยคิดว่าเมื่อใจบริสุทธิ์อย่างเดียวก็ถือว่าสมบูรณ์แล้วเป็นความคิดที่ผิดพลาดอย่างร้ายแรง  ถ้าเรานำเอาคำสั่งใช้ที่ศาสนาให้เราปฏิบัติออกไปคำว่า อะมัล ซอและฮ์ ที่อัลกุรอานเน้นย้ำเรื่องนี้กับเราก็คงไม่เกิดขึ้นในสังคมเราอย่างแน่นอน
มีโองการกุรอาน สามโองการด้วยกันที่ กล่าวถึง บาปภายนอก และบาปภายใน ซึ่งทั้งสองแบบดังกล่าวถูกห้ามไว้

ซูเราะห์อันอาม : 120 “และเจ้าทั้งหลายจงเว้น (การทำ) บาปทั้งโดยเปิดเผยและโดยซ่อนเร้น แท้จริงบรรดา ผู้ประกอบการบาปนั้น พวกเขาจะถูกตอบแทนไปตามที่พวกเขาดำเนินการ

ซูเราะห์อันอาม : 151  “และท่านทั้งหลายอย่าเข้าใกล้บรรดาสิ่งอนาจารทั้งปวง ทั้งที่เปิดเผยและปิดบัง”

ซูเราะห์อะรอฟ : 33 “จงประกาศเถิด “อันที่จริง องค์อภิบาลของฉันได้บัญญัติห้ามบรรดาสิ่งลามกทั้งหลาย ทั้งสิ่งที่ (กระทำ) เปิดเผยและที่ (กระทำโดย) ปิดเร้นจากมัน และ (ทรงบัญญัติห้าม) การบาป การล่วงละเมิด (สิทธิของผู้อื่น) โดยไร้ความชอบธรรม

จากตรงนี้เองพอจะสรุปได้ว่า การกระทำของมนุษย์สามารถเป็นตัววัดพฤติกรรมและสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจของมนุษย์ได้
มีนักปรัชญาท่านหนึ่งได้ยกตัวอย่างว่า  “หากมารดาไม่ให้ความเอาใจใส่ดูแลบุตร  ไม่ดูแลเรื่องอาหาร ไม่ดูแลเรื่องการอาบน้ำ และทุก ๆ สิ่งให้กับบุตรของตน  บุตรก็ไม่มีวันที่จะมอบความรักความผูกพันให้กับผู้เป็นมารดาอย่างแน่นอน  นั่นก็คือ ความรักของลูกจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเขาเห็นว่าผู้เป็นมารดาได้ให้ความรักความเมตตากับเขาอย่างแท้จริงเท่านั้น  สำหรับความรักในสิ่งถูกสร้างอื่นก็เช่นกัน ใช้หลักปรัชญาเดียวกับตัวอย่างที่ยกมา  ถ้าสตรีคนหนึ่งบอกกับเราว่า เขารักดอกไม้  แต่สิ่งที่เราเห็นก็คือ  ส่วนใหญ่แล้วเขาจะลืมรดน้ำดอกไม้ที่เขารัก เป็นธรรมดาอย่างยิ่งที่เราจะไม่เชื่อว่าเขามีความรักให้กับดอกไม้นั้นจริงอย่างที่เขาพูดไว้ เพราะฉะนั้น ความรักที่บอกกันว่ารักนั้น จะต้องเป็นความรักที่แท้จริงและมั่นคง   หากความรักใดไม่ใช่ความรักที่แท้จริงแล้วไซร้ ก็มิอาจเรียกได้ว่าเป็นความรัก

عنوان مقاله : شمشیر و دل

 

Exit mobile version