ความผูกพันระหว่างท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) กับอัล กุรอาน

In ผู้หญิง

ความผูกพันระหว่างท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) กับอัล กุรอาน

ดังที่การแสวงหาวิชาความรู้และการมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆนั้นมิได้จำเพาะเจาะจงไว้แต่เพียงเพศใดเพศหนึ่ง การค้นคว้าศึกษาอัล กุรอานก็เช่นเดียวกันหาได้ถูกจำกัดไว้เพียงเพื่อชนชั้นใดหรือชาติใดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงสามารถพบสตรีกลุ่มหนึ่งผู้เป็นนักค้นคว้าอัล กุรอานเคียงบ่าเคียงไหล่เหล่าบรรดาบุรุษได้ในหน้าประวัติศาสตร์

แต่ช่างน่าเสียดายยิ่งที่เรื่องราวของท่านผู้ทรงเกียตริเหล่านั้นกลับมิค่อยถูกนำมากล่าวขานเท่าที่ควร….

ท่านหญิงฟาติมะห์ ซะห์รอ(อ.)บุตรีของท่านศาสดา (ศ็อลฯ)เติบโตขึ้นในอ้อมแขนของบิดาตั้งแต่ช่วงปีต้นๆแห่งการถูกแต่งตั้งของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จวบจนท่านสิ้นพระชนม์ ท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.)มักจะได้ดื่มด่ำกับกลิ่นไออันเป็นสิริมงคลแห่งอัล กุรอานเสมอมาแม้ในบางครั้งยามที่ท่านหญิง(อ.)มิได้อยู่กับท่านศาสดา(ศ็อลฯ)แต่ท่านหญิง(อ.)ไต่ถามถึงโองการล่าสุดที่ถูกประทานลงมาจากท่านอิมามอะลี อิบนิอะบีฏอลิบ (อ) ผู้เป็นสามี หรือจากบุตรชายทั้งสองฮาซัน(อ.)และฮุเซน(อ.) ท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.)ไม่เคยตกข่าวในเรื่องราวของอัล กุรอานตลอดจนคำชี้แจงของแต่ละโองการที่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้บรรยายหลังจากที่โองการต่าง ๆ เหล่านั้นถูกประทานลงมา ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)จะฟังทุกๆคำกล่าวของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)และบันทึกทุกๆอย่างลงในความทรงจำของท่านเป็นอย่างดี เป็นที่รู้กันดีในหมู่มุสลิมว่าท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)คือสตรีผู้ได้ชื่อว่า มุฮัดดะษะฮ์(ผู้สนทนาสอนสั่งกับบรรดามะลาอิกะฮ์) ซึ่งท่านจะชำนาญการในเรื่องราวของหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติและสามารถตอรรถาธิบายและทำความเข้าใจอัล กุรอานได้เป็นอย่างดีที่สุด

ในหนังสือ บิฮารุล อันวาร รายงานโดย อิสฮาก อิบนุ ญะอ์ฟัร ซึ่งเขาได้ยินท่านอิมามญะอ์ฟัร อัส ซอดิก(อ.)กล่าวดังนี้ :เหตุผลที่ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)ได้รับฉายานามว่า มุฮัดดะษะฮ์(ผู้สนทนาสอนสั่งกับบรรดามะลาอิกะฮ์)เนื่องจากที่บรรดามะลาอิกะฮ์ได้ลงมาเยี่ยมเยียนเพื่อสนทนากับท่าน  เพื่อรับฟังการอรรถาธิบายโองการต่างๆของอัล กุรอาน ทว่าคือสัจธรรมอันถ่องแท้ที่กลิ่นไอแห่งความเป็นสิริมงคลของอัล กุรอานยังคงสถิตอยู่ที่ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)จนบรรดามะลาอิกะฮ์ได้กล่าวแก่ท่านว่า “โอ้ฟาติมะฮ์ พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกสรรค์เจ้าและทรงทำให้เจ้าบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน พระองค์ทรงเลือกสรรค์เจ้าจากเหล่าสตรีแห่งสากลโลก โอ้ฟาติมะฮ์จงนอบน้อมต่อพระองค์เถิด จงก้มกราบกรานและโค้งคำนับไปพร้อมๆกับผู้โค้งคำนับทั้งหลาย จากนั้นหมู่บรรดามะลาอิกะฮ์จึงสนทนากับท่านและท่านก็ได้สนทนากับพวกเขา”

ท่านหญิง(อ.)ยังมีผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวของบุคคลคนหนึ่งที่สามารถจะเป็นพยานสำคัญในการชี้ชัดถึงความผูกพันอันแน่นแฟ้นของท่านกับอัล กุรอาน นั่นคือเรื่องราวของฟิฎเฎาะฮ์สาวใช้คนสนิทของท่านหญิง(อ.)ซึ่งอันที่จริงแล้วฟิฎเฎาะฮ์เป็นผู้ที่มีหน้าที่คอยดูแลรับใช้ท่านหญิง(อ.) ซึ่งอันที่จริงแล้วฟิฎเฎาะฮ์เป็นผู้ที่มีหน้าที่คอยดูแลรับใช้ท่านหญิง (อ.)  แต่เนื่องด้วยความมีคุณธรรมอันยอดเยี่ยมของท่านหญิง (อ.)  ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.) จึงจัดเวลาผลัดเปลี่ยนกันทำกิจการงานต่างๆภายในบ้านกับสาวใช้  ซึ่งความละเอียดอ่อนของท่านหญิง(อ.)ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น ท่านหญิง(อ.)ยังได้อบรมสอนสั่งวิชาการอัล กุรอานพร้อมการอรรถาธิบายโองการเหล่านั้นจนฟิฎเฎาะฮ์สาวใช้ผู้มีพรสวรรค์ไม่ปรารถนาที่จะพูดสิ่งใดเว้นแต่โองการจากพระมหาคัมภีร์อัล กุรอานเท่านั้น และเมื่อท่านต้องการที่จะสื่อสารกับผู้ใดท่านจะหยิบยกโองการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นขึ้นมาเพื่อบอกกล่าวถึงเจตนาของตน

ในตำราที่กล่าวถึงชีวประวัติท่านอิมามฮาซัน (อ.)ได้กล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ อันสามารถเล่าขานถึงความเป็นนักค้นคว้าอย่างแท้จริงของท่านหญิง(อ.)ซึ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.) นั้นมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนวิทยาการแห่งอัล กุรอานให้แก่ตนอยู่ตลอดเวลา

วันหนึ่งเมื่อท่านอิมามอะลี(อ.)เข้ามาในบ้าน ท่านได้ยินว่าท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)กำลังอ่านโองการล่าสุดที่ถูกประทานลงมายังท่านศาสดา(ศ็อลฯ)อยู่ลำพัง ท่านอิมามอะลี(อ.)รู้สึกประหลาดใจเนื่องจากโองการดังกล่าวเพิ่งถูกประทานลงมา และในยามนั้นท่านหญิง(อ.)ก็อยู่ในบ้าน

ท่านอิมามอะลี(อ.)จึงถามถึงที่มาของโองการอัล กุรอานจากท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.) ท่านหญิง(อ.)จึงตอบว่า “ในทุกๆวันบุตรชายของเราจะนำโองการล่าสุดพร้อมด้วยวจนะต่างๆของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)มาบอกเล่าแก่ฉัน” ท่านอิมามอะลี(อ.)ได้ฟังเช่นนั้นจึงมีความปรารถนาที่จะฟังโองการอัล กุรอานและวจนะต่างๆของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จากบุตรชายบ้าง ในวันต่อมาท่านอิมามอะลี(อ.)ได้ไปซ่อนตัวอยู่ เมื่อท่านอิมามฮาซัน(อ.)กลับถึงบ้านก็เริ่มอ่านโองการให้ผู้เป็นมารดาฟังตามปกติ แต่ทว่าครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม ดูเหมือนท่านอิมามฮาซัน(อ.)จะอ่านโดยมีอาการตะกุกตะกัก ขณะอ่านโองการอยู่หลายครั้ง ท่านอิมามฮาซัน(อ.) จึงเงยขึ้นมองหน้ามารดาของท่านและกล่าวว่า “แม่จ๋า วันนี้ฉันรู้สึกอ่านอย่างตะกุกตะกักและตื่นเต้นเหมือนในยามที่มีท่านพ่อ (อ.)หรือท่านตา(ศ็อลฯ)อยู่ด้วย” ท่านอิมามอะลี (อ.)จึงเผยตัวออกจากที่ซ่อน ดึงร่างน้อยๆของบุตรชายมาโอบกอดไว้…

และนั่นคือเรื่องราวอันบ่งชี้ถึงการแสวงหาและความเพียรพยายามของท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)ในการค้นคว้าอัล กุรอานหรือหากจะกล่าวว่าท่านคือผู้ค้นคว้าอัล กุรอานเป็นคนแรกก็เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลย เนื่องจากจะหาสตรีท่านใดที่จะสามารถเข้าใจในความหมายของอัล กุรอานได้อย่างลึกซึ้งจนสามารถนำมาอรรถาธิบายอีกทั้งนำโองการต่างๆมาเป็นบทอ้างอิงในการยืนยันถึงประเด็นต่างๆหลายประการได้เป็นอย่างดีนั้นคงจะหามีไม่…..ซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นได้จากวจนะต่างๆของท่านหญิง(อ.)ที่จะเต็มเปี่ยมไปด้วยข้ออ้างอิงและบทยืนยันที่มาจากโองการต่าง ๆ ของอัล กุรอานอยู่เสมอ

คุตบะห์ของท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)ที่มีต่อชาวมะดีนะฮ์ ซึ่งท่านหญิงได้ต่อว่าชาวมุฮาญีรีนและชาวอันศอรในมัสยิดุนนบี ภายหลังจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ซึ่งอันที่จริงเรื่องราวที่ท่านหญิงนำมาทำการคุตบะห์ในครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากเรื่องราวในอัล กุรอานทั้งสิ้น ซึ่งท่านหญิงได้ใช้ตัวบทของโองการที่ยกมาอ้างอิงถึง26โองการ ซึ่งการใช้ตัวบทของโองการอัล กุรอานจำนวนดังกล่าวต่อการปราศรัยเพียงครึ่งชั่วโมงโดยประมาณนั้น บ่งบอกถึงความชำนาญการอย่างแตกฉานและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของผู้ปราศรัยได้เป็นอย่างดี

ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)ได้ใช้รูปแบบสามประการในการปราศรัย ซึ่งก็คือ -การอ้างอิงเพื่อพิสูจน์-การกำชับตักเตือนและการสอนสั่งอย่างนุ่มนวล-และการถกเถียงโต้แย้งอย่างมีตรรกเพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริงให้เด่นชัด

ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)ได้แนะนำประชาชาติและเผยโฉมหน้าของผู้ฉ้อฉลและบิดเบือน ท่านหญิงได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับอัล กุรอานต่อการดำรงชีวิต โดยท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)กล่าวว่า : “ในระหว่างพวกท่านกับพระผู้เป็นเจ้านั้น คือพันธะสัญญาอันหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงทิ้งไว้เป็นที่ระลึกและเลือกสรรค์ให้เป็นตัวแทนของพระองค์เองและนั่นคือคัมภีร์แห่งพระผู้เป็นเจ้า อัล กุรอานคือคัมภีร์อันเที่ยงแท้และคือรัศมีอันเจิดจำรัส คือดวงประทีปอันทอแสง,คัมภีร์ซึ่งมีโลกทัศน์ที่กว้างไกลและแจ่มแจ้ง ความลี้ลับของมันจูงใจน่าค้นหาและส่วนด้านเผยของมันคือสัจธรรมอันชัดแจ้ง และแน่นอนผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามอัล กุรอานคือแบบอย่างที่น่าใฝ่ฝัน…”

อันที่จริงแล้วท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)มิได้เป็นเพียงผู้ศึกษาค้นคว้าในศาสตร์แห่งอัล กุรอานเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ทว่าท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)คือส่วนหนึ่งของอัล กุรอานและเป็นที่มาของการถูกประทานลงมาของอัล กุรอานหลายโองการ อีกทั้งโองการอัล กุรอานอีกมากมายที่กล่าวถึงความประเสริฐของท่านหญิง(อ.) และถือเป็นการประทับตราแห่งความภาคภูมิแด่ท่านหญิง(อ.)โดยพระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่มีผู้ใดกล้าที่จะกังขาดังเช่น:ซูเราะห์เกาษัร โองการที่ 1-3

“แท้จริงเราได้ประทานอัลเกาซัรแก่เจ้า (ศาสดา (ศ็อลฯ) )แล้ว

ดังนั้นเจ้าจงนมาซเพื่อพระผู้อภิบาลของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี 

แท้จริงศัตรูของเจ้านั้น คือผู้ไร้ทายาท”

 ท่านฟัครุดดีน อัรรอซีนักตัฟซีรผู้ทรงคุณวุฒิได้บันทึกไว้ในหนังสือตัฟซีรกะบีรของท่านในเล่มที่32หน้าที่124ว่า  :เกาษัร มีความหมายถึง บุตรหลานแห่งศาสดา(ศ็อลฯ)ซึ่งซูเราะฮ์นี้ได้ถูกประทานลงมาเพื่อโต้ตอบกลุ่มชนที่มองว่าการไม่มีบุตรชายของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ถือเป็นข้อบกพร่องอันใหญ่หลวงเพราะจะไม่มีทายาทสืบสกุล ความหมายของ เกาษัร หมายถึงอัลลอฮ์ (ซบ.)จะทรงประทานเผ่าพันธุ์,วงศ์วานลูกหลานแก่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ซึ่งพวกเขาจะสืบเชื้อสายเรื่อยไป จงสังเกตดูว่า ไม่ว่าบรรดาลูกหลานแห่งศาสดา(ศ็อลฯ)จะถูกเข่นฆ่าทำลายล้างอย่างอธรรมสักเพียงใด แต่โลกก็ยังเต็มไปด้วยการมีอยู่ของพวกเขา ในขณะที่ไม่มีบุคคลที่สืบเชื้อสายมาจากบนีอุมัยยะฮ์หลงเหลืออยู่อีก แต่สังคมอิสลามกลับได้รับประโยชน์จากอุละมาอ์ผู้รู้ระดับสูงอย่างอัลบาเกร,อัส ซอดิก,อัล กาซิม,และอัรริฎออย่างไร ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่สืบเชื้อสายมาจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ทั้งสิ้น และไม่ว่าจะเป็นโองการมุบาฮะละฮ์ ซูเราะฮ์อาลิ อิมรอน โองการที่61

“ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) หลังจากที่ได้มีความรู้มายังเจ้าแล้ว ก็จงกล่าวเถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราก็จะเรียกลูก ๆ ของเรา และลูกของพวกท่านและเรียกบรรดาผู้หญิงของเรา และบรรดาผู้หญิงของพวกท่านและตัวของพวกเรา และตัวของพวกท่านและเราก็จะวิงวอนกัน (ต่ออัลลอฮ์) ด้วยความนอบน้อม โดยที่เราจะขอให้การสาปแช่ง ของอัลลอฮ์พึงประสบ แก่บรรดาผู้ที่โกหก”

  ซึ่งสืบเนื่องมาจากการท้าสาบานของกลุ่มนัศรอนีที่พวกเขามีประสงค์ให้พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ตัดสินและลงทัณฑ์ผู้ผิด ณ บัดดลนั้น….ด้วยการสาปแช่งกันและกัน

ท่านอัลลามะฮ์ ชะรอฟุดดีน ได้บันทึกไว้ดังนี้: กลุ่มชนที่มีความเชื่อต่อกิบลัตทั้งหมดและ แม้แต่พวกค่อวาริจญ์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มิได้นำสตรีท่านใดไปในการท้าสาบานของชาวนัศรอนีในวันนั้นเว้นแต่แก้วตาดวงใจของท่านนั่นคือ ฟาติมะฮ์ (อ.)  และจากบุตรหลานของท่านก็มีเพียงสองท่าน ฮะซันและฮุเซน (อ) เท่านั้นและท่านอิมามอะลี (อ) ถูกนำมาพาไปในฐานะตัวตนของท่าน  ดังฐานันดรเดียวกันกับฮารูนและมูซา ความน่าเกรงขามและรัศมีอันเจิดจำรัสที่ผุดผ่องมาจากใบหน้าของผู้ทรงเกียรติ์ทั้งห้า สร้างความตระหนกตกตื่นไปพร้อมกับความหวาดกลัวแก่ผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรมของชาวนัจญ์รอนเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยความยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากเกียรติยศของท่านผู้บริสุทธิ์เหล่านั้น โดยมีท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.) ร่วมอยู่ด้วย จึงถูกจารึกไว้อย่างอมตะนิรันดรกาลในพระมหาคัมภีร์แห่งพระผู้เป็นเจ้า

“อัลลอฮ์เพียงประสงค์ที่จะขจัดมลทิลออกไปจากพวกเจ้า  โอ้ลูกหลาน (ของท่านศาสดา –อะฮ์ลุลบัยต์)  และจะขัดเกลาพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์” (ซูเราะฮ์อะห์ซาบ โองการที่ 33)

ยังเป็นอีกโองการหนึ่งอันมีเหตุที่ถูกประทานลงมาเนื่องจากความประเสริฐของท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)  ตามรายงานจากฮะดีษ กุดซีย์: เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงมีบัญชาให้ญิบรออีลนำวะฮ์ยูดังกล่าวลงมายังท่านศาสดา (ศ็อลฯ) พระองค์ทรงตรัสว่าจงลงไปยังกลุ่มคนที่อยู่ใต้ผ้าคลุมและเมื่อญิบรออีลถามต่อว่า กลุ่มชนใต้ผ้าคลุมคือผู้ใด? พระองค์ทรงตรัสว่า:

คือ ฟาติมะฮ์และบิดาของท่าน

คือ ฟาติมะฮ์และคู่ครองของท่าน

คือ ฟาติมะฮ์และบุตรชายทั้งสองของท่าน

ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงมีประสงค์ที่จะสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่าท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.)  และครอบครัวของท่านคือผู้ที่ห่างไกลและถูกแยกออกจากมลทินทั้งปวง 

“ภายหลังอาดัมได้เรียนรู้คำวิงวอนจากพระผู้อภิบาลของเขา แล้วพระองค์อภัยโทษแก่เขา แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 37

สำหรับโองการนี้ถือเป็นอีกโองการหนึ่งที่จารึกเรื่องราวความประเสริฐของท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.) ไว้ โดยท่าน อิบนุ มะฆอซะลีย์ ซึได้รายงานจาก อิบนุ อับบาสและบันทึกไว้ในหนังสือ มะนากิบ อิบนิ มะฆอซะลีย์ ไว้ดังนี้:

มีผู้หนึ่งถามต่อท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “กะลีมาต” ในโองการ ที่ท่านนบีอาดัม (อ.) เรียนรู้จากพระผู้เป็นเจ้าและทำการขอลุแก่โทษ ซึ่งการวอนขอของท่านนั้นได้เป็นที่ยอมรับ ณ พระองค์ในที่สุด กะลีมาต นั้นคืออันใดเล่า?ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)ได้กล่าวตอบว่า “ท่านนบีอาดัม (อ.) วอนขอต่อพระองค์ดังนี้ ((ด้วยสิทธิแห่งมุฮัมมัด,อะลี,ฟาติมะฮ์,ฮะซัน,ฮุเซน โปรดจงรับการกลับตัวของข้าฯเถิด))จากนั้นพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงรับการขออภัยจากท่านนบี อาดัม (อ.) 

ยังคงมีโองการอัล กุรอานอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นโองการที่ 8-9 ของซูเราะฮ์ ดะฮ์ร ,โองการที่ 23 ของซูเราะฮ์ ชูรอ ที่ถูกประทานลงมาเนื่องจากแบบฉบับในการดำรงชีวิตอย่างยอดเยี่ยมของท่านหญิงและครอบครัว จนเป็นเหตุให้อัล กุรอานต้องจารึกเรื่องราวต่างๆนั้นไว้ให้เป็นบทเรียนอันล้ำค่าเพื่อชี้นำหนทางอันเที่ยงตรงแก่มนุษยชาติสืบต่อไปจนวันกิยามัต

โองการอัล กุรอานคือสิ่งท้าทายมนุษย์ผู้แสวงหาสัจธรรมให้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวอันทรงคุณค่าต่างๆ เพื่อการนำไปสู่คำตอบสุดท้ายแห่งการดำเนินชีวิตบนโลกนี้

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.)  ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้ค้นคว้าพระมหาคัมภีร์อัล กุรอานเท่านั้น แต่ทว่าเรื่องของท่านหญิง (อ.) ยังเป็นส่วนหนึ่งของอัล กุรอานและเป็นกุญแจสำคัญในการถูกประทานลงมาของอัล กุรอานอย่างแท้จริง

 

 

You may also read!

ความรู้ที่แท้จริง

รายงานจากท่านอิมามมูซากาซิมว่า เมื่อท่านศาสนทูตเดินเข้ามัสยิดเห็นคนกำลังนั่งล้อมชายคนหนึ่งอยู่ ท่านศาสนทูตถามพวกเขาว่า เกิดอะไรขึ้นหรือ พวกเขากล่าวตอบว่า ชายคนนี้คือ อัลลามะฮ์ ท่านศาสนทูตกล่าวถามว่า อัลลามะฮ์ คืออะไร ? บรรดาสาวกกล่าวตอบว่า เขาคือผู้รู้มากที่สุดในเรื่องเชื้อสายของชนชาวอาหรับ รู้ความเป็นมาของคนอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮ์อีกทั้งรู้เรื่องบทกวีของชาวอาหรับเป็นอย่างดีด้วย ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า เหล่านี้คือศาสตร์ที่ไม่ได้ทำให้ผู้ไม่รู้เสียประโยชน์แต่อย่างใด หลังจากนั้นท่านศาสดากล่าวต่อว่า แท้จริงความรู้มีสามสิ่งด้วยกัน รู้โองการที่ชัดแจ้ง

Read More...

 อิมามอาลีกับความสมถะ

ท่านศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวกับท่านอิมามอะลีว่า (more…)

Read More...

คนมีปมด้อย

อิมาม ซอดิก (อ) กล่าวว่า ما مِنْ رَجُل تَجَبَّرَ أَؤ تَکَبَّرَ إلاّ لِذِلَّه یَجِدُها قِی نَفْسِهِ “ไม่มีคนใดที่แสดงความโอ้อวดและแสดงตนเหนือผู้อื่น นอกเสียจากว่าเขาพบปมด้อยที่มีในตัวของเขาเอง คำอธิบาย  มีผลสำรวจและคำยืนยันจากนักจิตวิทยาว่า ต้นตอของการโอ้อวดและการยกตนเหนือกว่าผู้อื่นมาจากปมด้อย  เป็นปมด้อยที่ผู้ที่ประสพกับปัญหาทางจิตนี้ต้องทนทุกข์ทรมาน  เพื่อเป็นการชดเชยและปกปิดปมด้อยของตัวเองจึงแสดงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นซึ่งถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจยิ่ง 

Read More...

Leave a reply:

Your email address will not be published.

Mobile Sliding Menu