ความผูกพันระหว่างท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) กับอัล กุรอาน

ความผูกพันระหว่างท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) กับอัล กุรอาน

ดังที่การแสวงหาวิชาความรู้และการมีความเชี่ยวชาญในศาสตร์ต่างๆนั้นมิได้จำเพาะเจาะจงไว้แต่เพียงเพศใดเพศหนึ่ง การค้นคว้าศึกษาอัล กุรอานก็เช่นเดียวกันหาได้ถูกจำกัดไว้เพียงเพื่อชนชั้นใดหรือชาติใดเท่านั้น ด้วยเหตุนี้จึงสามารถพบสตรีกลุ่มหนึ่งผู้เป็นนักค้นคว้าอัล กุรอานเคียงบ่าเคียงไหล่เหล่าบรรดาบุรุษได้ในหน้าประวัติศาสตร์

แต่ช่างน่าเสียดายยิ่งที่เรื่องราวของท่านผู้ทรงเกียตริเหล่านั้นกลับมิค่อยถูกนำมากล่าวขานเท่าที่ควร….

ท่านหญิงฟาติมะห์ ซะห์รอ(อ.)บุตรีของท่านศาสดา (ศ็อลฯ)เติบโตขึ้นในอ้อมแขนของบิดาตั้งแต่ช่วงปีต้นๆแห่งการถูกแต่งตั้งของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จวบจนท่านสิ้นพระชนม์ ท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.)มักจะได้ดื่มด่ำกับกลิ่นไออันเป็นสิริมงคลแห่งอัล กุรอานเสมอมาแม้ในบางครั้งยามที่ท่านหญิง(อ.)มิได้อยู่กับท่านศาสดา(ศ็อลฯ)แต่ท่านหญิง(อ.)ไต่ถามถึงโองการล่าสุดที่ถูกประทานลงมาจากท่านอิมามอะลี อิบนิอะบีฏอลิบ (อ) ผู้เป็นสามี หรือจากบุตรชายทั้งสองฮาซัน(อ.)และฮุเซน(อ.) ท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.)ไม่เคยตกข่าวในเรื่องราวของอัล กุรอานตลอดจนคำชี้แจงของแต่ละโองการที่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ได้บรรยายหลังจากที่โองการต่าง ๆ เหล่านั้นถูกประทานลงมา ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)จะฟังทุกๆคำกล่าวของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)และบันทึกทุกๆอย่างลงในความทรงจำของท่านเป็นอย่างดี เป็นที่รู้กันดีในหมู่มุสลิมว่าท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)คือสตรีผู้ได้ชื่อว่า มุฮัดดะษะฮ์(ผู้สนทนาสอนสั่งกับบรรดามะลาอิกะฮ์) ซึ่งท่านจะชำนาญการในเรื่องราวของหลักศรัทธาและหลักปฏิบัติและสามารถตอรรถาธิบายและทำความเข้าใจอัล กุรอานได้เป็นอย่างดีที่สุด

ในหนังสือ บิฮารุล อันวาร รายงานโดย อิสฮาก อิบนุ ญะอ์ฟัร ซึ่งเขาได้ยินท่านอิมามญะอ์ฟัร อัส ซอดิก(อ.)กล่าวดังนี้ :เหตุผลที่ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)ได้รับฉายานามว่า มุฮัดดะษะฮ์(ผู้สนทนาสอนสั่งกับบรรดามะลาอิกะฮ์)เนื่องจากที่บรรดามะลาอิกะฮ์ได้ลงมาเยี่ยมเยียนเพื่อสนทนากับท่าน  เพื่อรับฟังการอรรถาธิบายโองการต่างๆของอัล กุรอาน ทว่าคือสัจธรรมอันถ่องแท้ที่กลิ่นไอแห่งความเป็นสิริมงคลของอัล กุรอานยังคงสถิตอยู่ที่ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)จนบรรดามะลาอิกะฮ์ได้กล่าวแก่ท่านว่า “โอ้ฟาติมะฮ์ พระผู้เป็นเจ้าทรงเลือกสรรค์เจ้าและทรงทำให้เจ้าบริสุทธิ์ปราศจากมลทิน พระองค์ทรงเลือกสรรค์เจ้าจากเหล่าสตรีแห่งสากลโลก โอ้ฟาติมะฮ์จงนอบน้อมต่อพระองค์เถิด จงก้มกราบกรานและโค้งคำนับไปพร้อมๆกับผู้โค้งคำนับทั้งหลาย จากนั้นหมู่บรรดามะลาอิกะฮ์จึงสนทนากับท่านและท่านก็ได้สนทนากับพวกเขา”

ท่านหญิง(อ.)ยังมีผลงานชิ้นเอกอีกชิ้นหนึ่ง ซึ่งเป็นเรื่องราวของบุคคลคนหนึ่งที่สามารถจะเป็นพยานสำคัญในการชี้ชัดถึงความผูกพันอันแน่นแฟ้นของท่านกับอัล กุรอาน นั่นคือเรื่องราวของฟิฎเฎาะฮ์สาวใช้คนสนิทของท่านหญิง(อ.)ซึ่งอันที่จริงแล้วฟิฎเฎาะฮ์เป็นผู้ที่มีหน้าที่คอยดูแลรับใช้ท่านหญิง(อ.) ซึ่งอันที่จริงแล้วฟิฎเฎาะฮ์เป็นผู้ที่มีหน้าที่คอยดูแลรับใช้ท่านหญิง (อ.)  แต่เนื่องด้วยความมีคุณธรรมอันยอดเยี่ยมของท่านหญิง (อ.)  ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.) จึงจัดเวลาผลัดเปลี่ยนกันทำกิจการงานต่างๆภายในบ้านกับสาวใช้  ซึ่งความละเอียดอ่อนของท่านหญิง(อ.)ยังไม่หยุดเพียงเท่านั้น ท่านหญิง(อ.)ยังได้อบรมสอนสั่งวิชาการอัล กุรอานพร้อมการอรรถาธิบายโองการเหล่านั้นจนฟิฎเฎาะฮ์สาวใช้ผู้มีพรสวรรค์ไม่ปรารถนาที่จะพูดสิ่งใดเว้นแต่โองการจากพระมหาคัมภีร์อัล กุรอานเท่านั้น และเมื่อท่านต้องการที่จะสื่อสารกับผู้ใดท่านจะหยิบยกโองการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับประเด็นนั้นขึ้นมาเพื่อบอกกล่าวถึงเจตนาของตน

ในตำราที่กล่าวถึงชีวประวัติท่านอิมามฮาซัน (อ.)ได้กล่าวถึงเหตุการณ์หนึ่งที่ถูกบันทึกไว้ อันสามารถเล่าขานถึงความเป็นนักค้นคว้าอย่างแท้จริงของท่านหญิง(อ.)ซึ่งบ่งบอกได้เป็นอย่างดีว่าท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.) นั้นมีความมุ่งมั่นที่จะเพิ่มพูนวิทยาการแห่งอัล กุรอานให้แก่ตนอยู่ตลอดเวลา

วันหนึ่งเมื่อท่านอิมามอะลี(อ.)เข้ามาในบ้าน ท่านได้ยินว่าท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)กำลังอ่านโองการล่าสุดที่ถูกประทานลงมายังท่านศาสดา(ศ็อลฯ)อยู่ลำพัง ท่านอิมามอะลี(อ.)รู้สึกประหลาดใจเนื่องจากโองการดังกล่าวเพิ่งถูกประทานลงมา และในยามนั้นท่านหญิง(อ.)ก็อยู่ในบ้าน

ท่านอิมามอะลี(อ.)จึงถามถึงที่มาของโองการอัล กุรอานจากท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.) ท่านหญิง(อ.)จึงตอบว่า “ในทุกๆวันบุตรชายของเราจะนำโองการล่าสุดพร้อมด้วยวจนะต่างๆของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)มาบอกเล่าแก่ฉัน” ท่านอิมามอะลี(อ.)ได้ฟังเช่นนั้นจึงมีความปรารถนาที่จะฟังโองการอัล กุรอานและวจนะต่างๆของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จากบุตรชายบ้าง ในวันต่อมาท่านอิมามอะลี(อ.)ได้ไปซ่อนตัวอยู่ เมื่อท่านอิมามฮาซัน(อ.)กลับถึงบ้านก็เริ่มอ่านโองการให้ผู้เป็นมารดาฟังตามปกติ แต่ทว่าครั้งนี้ไม่เหมือนเดิม ดูเหมือนท่านอิมามฮาซัน(อ.)จะอ่านโดยมีอาการตะกุกตะกัก ขณะอ่านโองการอยู่หลายครั้ง ท่านอิมามฮาซัน(อ.) จึงเงยขึ้นมองหน้ามารดาของท่านและกล่าวว่า “แม่จ๋า วันนี้ฉันรู้สึกอ่านอย่างตะกุกตะกักและตื่นเต้นเหมือนในยามที่มีท่านพ่อ (อ.)หรือท่านตา(ศ็อลฯ)อยู่ด้วย” ท่านอิมามอะลี (อ.)จึงเผยตัวออกจากที่ซ่อน ดึงร่างน้อยๆของบุตรชายมาโอบกอดไว้…

และนั่นคือเรื่องราวอันบ่งชี้ถึงการแสวงหาและความเพียรพยายามของท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)ในการค้นคว้าอัล กุรอานหรือหากจะกล่าวว่าท่านคือผู้ค้นคว้าอัล กุรอานเป็นคนแรกก็เป็นคำกล่าวที่ไม่เกินเลย เนื่องจากจะหาสตรีท่านใดที่จะสามารถเข้าใจในความหมายของอัล กุรอานได้อย่างลึกซึ้งจนสามารถนำมาอรรถาธิบายอีกทั้งนำโองการต่างๆมาเป็นบทอ้างอิงในการยืนยันถึงประเด็นต่างๆหลายประการได้เป็นอย่างดีนั้นคงจะหามีไม่…..ซึ่งเราสามารถสังเกตเห็นได้จากวจนะต่างๆของท่านหญิง(อ.)ที่จะเต็มเปี่ยมไปด้วยข้ออ้างอิงและบทยืนยันที่มาจากโองการต่าง ๆ ของอัล กุรอานอยู่เสมอ

คุตบะห์ของท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)ที่มีต่อชาวมะดีนะฮ์ ซึ่งท่านหญิงได้ต่อว่าชาวมุฮาญีรีนและชาวอันศอรในมัสยิดุนนบี ภายหลังจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ซึ่งอันที่จริงเรื่องราวที่ท่านหญิงนำมาทำการคุตบะห์ในครั้งนี้ ล้วนแล้วแต่มาจากเรื่องราวในอัล กุรอานทั้งสิ้น ซึ่งท่านหญิงได้ใช้ตัวบทของโองการที่ยกมาอ้างอิงถึง26โองการ ซึ่งการใช้ตัวบทของโองการอัล กุรอานจำนวนดังกล่าวต่อการปราศรัยเพียงครึ่งชั่วโมงโดยประมาณนั้น บ่งบอกถึงความชำนาญการอย่างแตกฉานและความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของผู้ปราศรัยได้เป็นอย่างดี

ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)ได้ใช้รูปแบบสามประการในการปราศรัย ซึ่งก็คือ -การอ้างอิงเพื่อพิสูจน์-การกำชับตักเตือนและการสอนสั่งอย่างนุ่มนวล-และการถกเถียงโต้แย้งอย่างมีตรรกเพื่อตีแผ่ข้อเท็จจริงให้เด่นชัด

ท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)ได้แนะนำประชาชาติและเผยโฉมหน้าของผู้ฉ้อฉลและบิดเบือน ท่านหญิงได้เน้นย้ำถึงการให้ความสำคัญกับอัล กุรอานต่อการดำรงชีวิต โดยท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)กล่าวว่า : “ในระหว่างพวกท่านกับพระผู้เป็นเจ้านั้น คือพันธะสัญญาอันหนึ่งที่พระองค์ได้ทรงทิ้งไว้เป็นที่ระลึกและเลือกสรรค์ให้เป็นตัวแทนของพระองค์เองและนั่นคือคัมภีร์แห่งพระผู้เป็นเจ้า อัล กุรอานคือคัมภีร์อันเที่ยงแท้และคือรัศมีอันเจิดจำรัส คือดวงประทีปอันทอแสง,คัมภีร์ซึ่งมีโลกทัศน์ที่กว้างไกลและแจ่มแจ้ง ความลี้ลับของมันจูงใจน่าค้นหาและส่วนด้านเผยของมันคือสัจธรรมอันชัดแจ้ง และแน่นอนผู้ที่ประสบความสำเร็จในการปฏิบัติตามอัล กุรอานคือแบบอย่างที่น่าใฝ่ฝัน…”

อันที่จริงแล้วท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)มิได้เป็นเพียงผู้ศึกษาค้นคว้าในศาสตร์แห่งอัล กุรอานเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น ทว่าท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)คือส่วนหนึ่งของอัล กุรอานและเป็นที่มาของการถูกประทานลงมาของอัล กุรอานหลายโองการ อีกทั้งโองการอัล กุรอานอีกมากมายที่กล่าวถึงความประเสริฐของท่านหญิง(อ.) และถือเป็นการประทับตราแห่งความภาคภูมิแด่ท่านหญิง(อ.)โดยพระผู้เป็นเจ้าอย่างไม่มีผู้ใดกล้าที่จะกังขาดังเช่น:ซูเราะห์เกาษัร โองการที่ 1-3

“แท้จริงเราได้ประทานอัลเกาซัรแก่เจ้า (ศาสดา (ศ็อลฯ) )แล้ว

ดังนั้นเจ้าจงนมาซเพื่อพระผู้อภิบาลของเจ้าและจงเชือดสัตว์พลี 

แท้จริงศัตรูของเจ้านั้น คือผู้ไร้ทายาท”

 ท่านฟัครุดดีน อัรรอซีนักตัฟซีรผู้ทรงคุณวุฒิได้บันทึกไว้ในหนังสือตัฟซีรกะบีรของท่านในเล่มที่32หน้าที่124ว่า  :เกาษัร มีความหมายถึง บุตรหลานแห่งศาสดา(ศ็อลฯ)ซึ่งซูเราะฮ์นี้ได้ถูกประทานลงมาเพื่อโต้ตอบกลุ่มชนที่มองว่าการไม่มีบุตรชายของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ถือเป็นข้อบกพร่องอันใหญ่หลวงเพราะจะไม่มีทายาทสืบสกุล ความหมายของ เกาษัร หมายถึงอัลลอฮ์ (ซบ.)จะทรงประทานเผ่าพันธุ์,วงศ์วานลูกหลานแก่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ซึ่งพวกเขาจะสืบเชื้อสายเรื่อยไป จงสังเกตดูว่า ไม่ว่าบรรดาลูกหลานแห่งศาสดา(ศ็อลฯ)จะถูกเข่นฆ่าทำลายล้างอย่างอธรรมสักเพียงใด แต่โลกก็ยังเต็มไปด้วยการมีอยู่ของพวกเขา ในขณะที่ไม่มีบุคคลที่สืบเชื้อสายมาจากบนีอุมัยยะฮ์หลงเหลืออยู่อีก แต่สังคมอิสลามกลับได้รับประโยชน์จากอุละมาอ์ผู้รู้ระดับสูงอย่างอัลบาเกร,อัส ซอดิก,อัล กาซิม,และอัรริฎออย่างไร ซึ่งทั้งหมดล้วนแล้วแต่สืบเชื้อสายมาจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ทั้งสิ้น และไม่ว่าจะเป็นโองการมุบาฮะละฮ์ ซูเราะฮ์อาลิ อิมรอน โองการที่61

“ดังนั้นผู้ใดที่โต้เถียงเจ้าในเรื่องของเขา (อีซา) หลังจากที่ได้มีความรู้มายังเจ้าแล้ว ก็จงกล่าวเถิดว่า ท่านทั้งหลายจงมาเถิด เราก็จะเรียกลูก ๆ ของเรา และลูกของพวกท่านและเรียกบรรดาผู้หญิงของเรา และบรรดาผู้หญิงของพวกท่านและตัวของพวกเรา และตัวของพวกท่านและเราก็จะวิงวอนกัน (ต่ออัลลอฮ์) ด้วยความนอบน้อม โดยที่เราจะขอให้การสาปแช่ง ของอัลลอฮ์พึงประสบ แก่บรรดาผู้ที่โกหก”

  ซึ่งสืบเนื่องมาจากการท้าสาบานของกลุ่มนัศรอนีที่พวกเขามีประสงค์ให้พระผู้เป็นเจ้าเป็นผู้ตัดสินและลงทัณฑ์ผู้ผิด ณ บัดดลนั้น….ด้วยการสาปแช่งกันและกัน

ท่านอัลลามะฮ์ ชะรอฟุดดีน ได้บันทึกไว้ดังนี้: กลุ่มชนที่มีความเชื่อต่อกิบลัตทั้งหมดและ แม้แต่พวกค่อวาริจญ์ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) มิได้นำสตรีท่านใดไปในการท้าสาบานของชาวนัศรอนีในวันนั้นเว้นแต่แก้วตาดวงใจของท่านนั่นคือ ฟาติมะฮ์ (อ.)  และจากบุตรหลานของท่านก็มีเพียงสองท่าน ฮะซันและฮุเซน (อ) เท่านั้นและท่านอิมามอะลี (อ) ถูกนำมาพาไปในฐานะตัวตนของท่าน  ดังฐานันดรเดียวกันกับฮารูนและมูซา ความน่าเกรงขามและรัศมีอันเจิดจำรัสที่ผุดผ่องมาจากใบหน้าของผู้ทรงเกียรติ์ทั้งห้า สร้างความตระหนกตกตื่นไปพร้อมกับความหวาดกลัวแก่ผู้นำทั้งทางโลกและทางธรรมของชาวนัจญ์รอนเป็นอย่างยิ่ง  ด้วยความยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้นจากเกียรติยศของท่านผู้บริสุทธิ์เหล่านั้น โดยมีท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.) ร่วมอยู่ด้วย จึงถูกจารึกไว้อย่างอมตะนิรันดรกาลในพระมหาคัมภีร์แห่งพระผู้เป็นเจ้า

“อัลลอฮ์เพียงประสงค์ที่จะขจัดมลทิลออกไปจากพวกเจ้า  โอ้ลูกหลาน (ของท่านศาสดา –อะฮ์ลุลบัยต์)  และจะขัดเกลาพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์” (ซูเราะฮ์อะห์ซาบ โองการที่ 33)

ยังเป็นอีกโองการหนึ่งอันมีเหตุที่ถูกประทานลงมาเนื่องจากความประเสริฐของท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.)  ตามรายงานจากฮะดีษ กุดซีย์: เมื่อพระผู้เป็นเจ้าทรงมีบัญชาให้ญิบรออีลนำวะฮ์ยูดังกล่าวลงมายังท่านศาสดา (ศ็อลฯ) พระองค์ทรงตรัสว่าจงลงไปยังกลุ่มคนที่อยู่ใต้ผ้าคลุมและเมื่อญิบรออีลถามต่อว่า กลุ่มชนใต้ผ้าคลุมคือผู้ใด? พระองค์ทรงตรัสว่า:

คือ ฟาติมะฮ์และบิดาของท่าน

คือ ฟาติมะฮ์และคู่ครองของท่าน

คือ ฟาติมะฮ์และบุตรชายทั้งสองของท่าน

ซึ่งบ่งชี้ได้ว่าพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงมีประสงค์ที่จะสำแดงให้เป็นที่ประจักษ์ชัดแจ้งว่าท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.)  และครอบครัวของท่านคือผู้ที่ห่างไกลและถูกแยกออกจากมลทินทั้งปวง 

“ภายหลังอาดัมได้เรียนรู้คำวิงวอนจากพระผู้อภิบาลของเขา แล้วพระองค์อภัยโทษแก่เขา แท้จริงพระองค์คือผู้ทรงอภัยโทษ ผู้ทรงเมตตาเสมอ” ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ โองการที่ 37

สำหรับโองการนี้ถือเป็นอีกโองการหนึ่งที่จารึกเรื่องราวความประเสริฐของท่านหญิงฟาติมะฮ์(อ.) ไว้ โดยท่าน อิบนุ มะฆอซะลีย์ ซึได้รายงานจาก อิบนุ อับบาสและบันทึกไว้ในหนังสือ มะนากิบ อิบนิ มะฆอซะลีย์ ไว้ดังนี้:

มีผู้หนึ่งถามต่อท่านศาสดา (ศ็อลฯ) เกี่ยวกับความหมายของคำว่า “กะลีมาต” ในโองการ ที่ท่านนบีอาดัม (อ.) เรียนรู้จากพระผู้เป็นเจ้าและทำการขอลุแก่โทษ ซึ่งการวอนขอของท่านนั้นได้เป็นที่ยอมรับ ณ พระองค์ในที่สุด กะลีมาต นั้นคืออันใดเล่า?ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)ได้กล่าวตอบว่า “ท่านนบีอาดัม (อ.) วอนขอต่อพระองค์ดังนี้ ((ด้วยสิทธิแห่งมุฮัมมัด,อะลี,ฟาติมะฮ์,ฮะซัน,ฮุเซน โปรดจงรับการกลับตัวของข้าฯเถิด))จากนั้นพระผู้เป็นเจ้าจึงทรงรับการขออภัยจากท่านนบี อาดัม (อ.) 

ยังคงมีโองการอัล กุรอานอีกมากมายไม่ว่าจะเป็นโองการที่ 8-9 ของซูเราะฮ์ ดะฮ์ร ,โองการที่ 23 ของซูเราะฮ์ ชูรอ ที่ถูกประทานลงมาเนื่องจากแบบฉบับในการดำรงชีวิตอย่างยอดเยี่ยมของท่านหญิงและครอบครัว จนเป็นเหตุให้อัล กุรอานต้องจารึกเรื่องราวต่างๆนั้นไว้ให้เป็นบทเรียนอันล้ำค่าเพื่อชี้นำหนทางอันเที่ยงตรงแก่มนุษยชาติสืบต่อไปจนวันกิยามัต

โองการอัล กุรอานคือสิ่งท้าทายมนุษย์ผู้แสวงหาสัจธรรมให้ศึกษาค้นคว้าเรื่องราวอันทรงคุณค่าต่างๆ เพื่อการนำไปสู่คำตอบสุดท้ายแห่งการดำเนินชีวิตบนโลกนี้

ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า ท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.)  ไม่เพียงแต่จะเป็นผู้ค้นคว้าพระมหาคัมภีร์อัล กุรอานเท่านั้น แต่ทว่าเรื่องของท่านหญิง (อ.) ยังเป็นส่วนหนึ่งของอัล กุรอานและเป็นกุญแจสำคัญในการถูกประทานลงมาของอัล กุรอานอย่างแท้จริง

 

 

Exit mobile version