“วะฮ์ยู” ตอนที่ 1

In อัลกุรอาน

“วะฮ์ยู”1

ตามความเชื่อของนักวิชาการและนักค้นคว้าด้านอัล กุรอานเชื่อว่า อัลกุรอานมีความสัมพันธ์โดยตรงกับคำว่า วะฮ์ยู  และทุกคนยังมีความเชื่ออีกว่าการพิจารณาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องวะฮ์ยู เป็นจุดเริ่มต้นของการค้นคว้าเกี่ยวกับอัล กุรอาน ดังนั้นในฉบับนี้จะขอทำความเข้าใจกับท่านผู้อ่านในเรื่องวะฮ์ยู เพื่อเป็นก้าวแรกไปสู่การทำความเข้าใจอัล กุรอาน

ความต้องการของมนุษย์ที่มีต่อ วะฮ์ยู

ความเชื่อถึงความเป็นไปได้ที่จะมีมนุษย์ถูกเลือกจากพระเจ้าที่สามารถติดต่อสัมพันธ์กับพระเจ้าเพื่อนำสาส์นจากพระเจ้ามาสั่งสอนมนุษย์เป็นความเชื่อที่สำคัญที่สุดสำหรับศาสนาที่เชื่อในการมีอยู่ของพระเจ้า การประทานวะฮ์ยูในความเป็นจริงแล้วเป็นการตอบสนองความต้องการของมนุษย์นั่นเองมนุษย์ต้องการวะฮ์ยูก็เพราะ

  1. เพื่อทำให้มนุษย์ที่เป็นเจ้าของความคิด ความเชื่อและเจตจำนงอันอิสระจะได้ไม่หลงไปในความคิดที่ผิดพลาดและความเชื่อที่งมงาย  ด้วยเหตุนี้เองพระองค์จึงทรงเลือกมนุษย์ผู้มีคุณสมบัติที่สูงส่งให้มารับหน้าที่ในการชี้นำมนุษย์ทั้งหลายไปสู่สัจธรรมที่แท้จริง เพราะยังมีสัจธรรมบางอย่างที่ถึงแม้มนุษย์จะมีความรู้มากมายเท่าใดก็ตามก็ไม่สามารถเข้าถึงมันได้
  2. เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมจะใช้ชีวิตเป็นกลุ่มโดยจะไม่อยู่เพียงลำพังแต่บางครั้งสัญชาติญานของมนุษย์  เช่นการหลงตัวเอง ความโลมและอื่นๆไปขัดกับผลประโยชน์ของสังคมจนทำให้เกิดความวุ่นวายและความขัดแย้งขึ้น  ดังนั้นเพื่อเป็นการสร้างระบบระเบียบในสังคมขจัดการละเมิดสิทธิของผู้อื่น และขัดขวางการสร้างความวุ่นวายอื่นๆ จึงจำเป็นที่จะต้องกำหนดกฏระเบียบและกฏหมายขึ้น แต่กฏหมายที่จะครอบคลุมและมีความยุติธรรมที่สุดต้องเป็นกฏหมายที่กำหนดจากพระผู้เป็นเจ้าผู้ทรงรอบรู้โดยส่งผ่านตัวแทนของพระองค์เท่านั้น

ศาสนาที่เชื่อในพระเจ้าโดยเฉพาะศาสนาอิสลาม  เกิดขึ้นมาจากความต้องการที่จะตอบสนองความต้องการของมนุษย์ทั้งสองด้านที่ได้กล่าวมาแล้วข้างต้น อัล กุรอานกล่าวเกี่ยวกับประเด็นเหล่านั้นไว้ในซูเราะฮ์นิซาอ์ โองการที่ 165 ว่า

คือบรรดารอซูลในฐานะผู้แจ้งข่าวดี และในฐานะผู้ตักเตือน เพื่อว่ามนุษย์จะได้ไม่มีหลักฐานใดๆ อ้างแก้ตัวแก่อัลลอฮ์ได้ หลังจากบรรดารอซูลเหล่านั้น และอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงเดชานุภาพ  ผู้ทรงปรีชาญาณ

มาถึงตอนนี้เราเข้าใจถึงความต้องการของมนุษย์ต่อคำสอนของพระเจ้าแล้ว เราสามารถกล่าวได้ว่าวะฮ์ยู เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นมาแล้ว  และไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ในอิสลาม อัล กุรอานกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ในซูเราะฮ์นิซาอ์โองการที่ 163 ว่า

แท้จริง เราได้มีโองการแก่เจ้าเช่นเดียวกับที่เราได้มีโองการแก่นูฮ์และบรรดดานบีหลังจากเขา และเราได้มีโองการแก่อิบรอฮีม  อิสมาอีล อิสฮาก ยะอ์กูบ  อัล อัสบาฏ อีซา อัยยูบ ยูนุส ฮารูน และสุลัยมาน และเราได้ให้ซะบูร์แก่ดาวูด

การประทานวะฮ์ยูครั้งแรก

ในคืนหนึ่งของเดือนรอมฎอนขณะที่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ) อยู่ในถ้ำ “ฮิรออ์”ญิบรออีล ทูตแห่งพระผู้เป็นเจ้าถูกส่งลงมาหาท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ)และเรียกร้องให้ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)อ่านท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ตอบว่า ฉันไม่สามารถอ่านได้ ญิบรออีลกล่าวเป็นครั้งที่สองว่า  จงอ่าน ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)ให้คำตอบเหมือนเดิม ญิบรออีล กล่าวเป็นครั้งที่สามว่า จงอ่าน ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)กล่าวตอบว่า จะฉันอ่านอะไร ญิบรออีลจึงกล่าวว่า

จงอ่านด้วยพระนามแห่งพระผู้อภิบาลของเจ้าผู้ทรงสร้าง  ทรงสร้างมนุษย์จากก้อนเลือด จงอ่านเถิด และพระผู้อภิบาลของเจ้านั้น ทรงเอื้อเฟื้อยิ่งนัก ผู้ทรงสอนด้วยปากกา  ผู้ทรงสอนมนุษย์ในสิ่งที่เขาไม่รู้(ซูเราะฮ์อะลัก โองการที่ 1-5) ค่ำคืนอันบริสุทธ์นี่เองที่แสงสว่างแห่งทางนำก็ปรากฏขึ้น  คืนนี้ได้เปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติสู่ประวัติศาสตร์หน้าใหม่เป็นประวัติศาสตร์ที่เริ่มต้นการอ่าน  การศึกษา และการให้ความสำคัญกับการศึกษา

ความหมายของคำว่า  วะฮ์ยู

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาอาหรับกล่าวว่า ความหมายทางภาษาของคำว่า “วะฮ์ยุน” หมายความว่า “การแจ้งข่าวอย่างลับๆ” ด้วยเหตุนี้เองนักวิชาการบางท่านจึงเชื่อว่าการดลใจก็ถือเป็นวะฮ์ยูด้วยเหมือนกัน และหากพิจารณาบนพื้นฐานดังกล่าวคำว่าวะฮ์ยูจึงหมายรวมถึง การชี้การส่งสัญญาณ  การกระซิบกระซาบ

ท่านอิบนุมันซูรกล่าวไว้ในหนังสือ ลิซานุลอาหรับว่า ตามรากศัพท์ของคำว่า วะฮ์ยุ หมายถึงการชี้ การเขียน การดลใจและการกระทำใดๆ ก็แล้วแต่ ที่เป็นการสื่อสารให้ผู้อื่นรับรู้

ท่านรอฆิบ อิสฟาฮานี เจ้าของหนังสือ “มุฟรอดาต”ได้ให้ความหมายว่า วะฮ์ยู หมายถึงการส่งสัญญาณแบบรวดเร็ว” ส่วนคำจำกัดความทางวิชาการของคำว่า วะฮ์ยู คือการติดต่อสัมพันธ์ทางจิตวิญญาณระหว่างพระเจ้ากับบรรดาศาสดาของพระองค์โดยไม่มีใครสามารถรับรู้และเข้าใจได้โดยบรรดาศาสดาจะเป็นผู้รับสาส์นจากพระเจ้ามาสั่งสอนมนุษย์ชาติ

ในอัล กุรอานได้ใช้คำว่า วะฮ์ยู ไว้หลายความหมายด้วยกัน

  1. การส่งสาส์นระหว่างพระเจ้ากับทูตสวรรค์  อัลกุรอานกล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ในซูเราะฮ์อันฟาล โองการที่ 12 ว่า

“จงรำลึกขณะที่พระผู้อภิบาลของเจ้าสงสาส์นแก่มะลากิกะฮ์ ว่าแท้จริง ข้านั้นร่วมอยู่กับพวกเจ้าด้วย ดังนั้นพวกเจ้าจงทำให้บรรดาผู้ศรัทธามั่นคงเถิด ข้าจะโยนความกลัวเข้าไปในหัวใจของบรรดาผู้ปฏิเสธ แล้วพวกเจ้าจงฟันลงบนต้นคอ และฟันทุกๆ ปลายนิ้วมือของพวกเขา

  1. การชี้นำจากพระเจ้าแก่บรรดาสัตว์ทั้งหลาย  อัลกุรอานกล่าวเกี่ยวกัยเรื่องนี้ในซูเราะฮ์นะห์ล โองการที่ 67-68 ว่า

และจากผลของอินทผาลัมและองุ่น พวกเจ้าได้จากมันมาเป็นทั้งของมึนเมาและอาหารที่ดี แท้จริง ในการนั้น แน่นอนย่อมเป็นสัญญานแก่กลุ่มคนผู้ใช้ปัญญา  และพระผู้อภิบาลของเจ้า  ทรงชี้นำแก่ผึ้งว่าจงทำรังตามภูเขาและตามต้นไม้ และตามที่พวกเขาทำร้านขึ้น

  1. การดลใจ อัลกุรอานกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้ในเรื่องราวที่เล่าถึงมารดาของท่านศาสดามูซา(อ.)ไว้ในซูเราะฮ์กอศอศ โองการที่ 7 ว่า   และเราได้ดลใจมารดาของมูซาจงให้นมแก่เขา เมื่อเจ้ากลัวแทนเขาก็จงโยนเขาลงไปในแม่น้ำ และเจ้าอย่าได้กลัวและอย่าได้เศร้าโศก แท้จริงเราจะให้เขากลับไปหาเจ้า และเราจะทำให้เขาเป็นหนึ่งในบรรดาศาสนทูต
  2. การสนทนาของพระเจ้ากับบ่าวผู้ถูกเลือก  วะฮ์ยูตามความหมายนี้ก็คือการที่มนุษย์คนหนึ่งถูกเลือกให้เป็นศาสนทูต ผู้รับสาส์นจากพระเจ้าให้มาสั่งสอนมนุษย์ชาติ ซึ่งก็เป็นความหมายที่เราต้องการจะกล่าวถึงในบทความนี้นั่นเอง อัลกุรอานกล่าวเกี่ยวกับประเด็นนี้ไว้ในซูเราะฮ์ชูรอ โองการที่ 51 ว่า และไม่เป็นการบังควรแก่มนุษย์คนใด ที่จะให้อัลลอฮ์ตรัสแก่เขาเว้นแต่โดยทางวะฮ์ยู หรือโดยทางเบื้องหลังม่าน หรือโดยที่พระองค์ส่งทูตมา แล้วเขาก็จะนำวะฮ์ยูมาตามที่พระองค์ทรงประสงค์โดยบัญชาของพระองค์ แท้จริง  พระองค์เป็นผู้ทรงสูงส่งผู้ทรงปรีชาญาณ

สภาพของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ขณะได้รับวะฮ์ยู

ตามรายงานฮะดีษบ่งชี้ว่า ขณะที่มีการประทานวะฮ์ยูนั้นมีความเปลี่ยนแปลงต่อสภาพร่างกายของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)เกิดขึ้น ร่างกายท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จะรู้สึกหนัก บางครั้งก็มีเหงื่อไหล บางครั้งท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จะแหงนมองฟ้าอยู่ตลอดเวลา และอื่นๆ มีรายงานฮะดีษมากมายที่กล่าวถึงประเด็นนี้

  1. รายงานจากท่านอิมามบากิร(อ.)ว่า อุษมาน อิบนุ มัซอูน กล่าวว่า ครั้งหนึ่งฉันเดินผ่านบ้านของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ในเมืองมักกะฮ์ ฉันเห็นท่านศาสดา(ศ็อลฯ)นั่งอยู่ในบ้าน ฉันจึงขออนุญาตเข้าไปนั่งสนทนากับท่าน ในขณะที่ฉันกำลังสนทนาอยู่นั้นฉันเห็นท่านศาสดา(ศ็อลฯ)แหงนหน้าขึ้นมองท้องฟ้า และมองอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานาน  หลังจากนั้นท่านก็หันไปทางด้านขวา และทำท่าเสมือนกับกำลังสนทนาอยู่กับใครคนหนึ่ง หลังจากนั้นท่านก็แหงนมองท้องฟ้าอีกและอยู่อย่างนั้นเป็นเวลานานพอสมควร แล้วท่านก็หันไปทางซ้าย ขณะนั้นใบหน้าของท่านเต็มไปด้วยเหงื่อ หลังจากนั้นต่อมาฉันจึงถามท่านศาสดาว่า  โอ้ท่านศาสทูตแห่งอัลลอฮ์ ฉันไม่เคยเห็นท่านอยู่ในสภาพอย่างนี้มาก่อนเลย ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)กล่าวตอบว่า เจ้าเห็นสภาพของฉันแล้วใช่ไหม ฉันกล่าวตอบว่า ใช่แล้ว ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จึงกล่าวว่า ญิบรออีล  ได้ลงมาหาฉันและได้นำโองการนี้มาให้แก่ฉัน

แท้จริงอัลลอฮ์ทรงใช้ให้รักษาความยุติธรรมและทำดีและการบริจาคแก่ญาติใกล้ชิดและให้ละเว้นจากการทำลามกและการชั่วช้า และการอธรรมพระองค์ทรงตักเตือนพวกเจ้าเพื่อพวกเจ้าจักได้สำนึก(ซูเราะฮ์นะห์ล โองการที่ 90)

  1. มีรายงานว่า ฮาริส บิน ฮิชาม กล่าวถามท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ว่า  วะฮ์ยูถูกประทานมาให้ท่านอย่างไร ท่านศาสดากล่าวตอบว่า จะมีเสียงคล้ายเสียงระฆังดังก้องในหูฉัน ขณะนั้นจะมีวะฮ์ยูประทานลงมาให้ฉัน ซึ่งจะเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดสำหรับฉัน หลังจากนั้นเสียงดังกล่าวก็จะหายไป ฉันจะจดจำสิ่งที่ญิบรออีล ประทานลงมาให้ หรือบางครั้งญิบรออีลจะมาหาฉันในร่างของมนุษย์ และสนทนากับฉันและฉันจะจดจำคำกล่าวของญิบรออีล แล้วเขาก็จะจากฉันไป

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้น  บางคนอาจตั้งข้อสงสัยว่า  ในขณะที่การประทานวะฮ์ยูซึ่งเป็นการติดต่อสัมพันธ์ทางด้านจิตวิญญานระหว่างพระเจ้ากับท่านศาสดา(ศ็อลฯ)อีกทั้งตามรายงานฮะดีษ บ่งชี้ว่าท่านศาสดา(ศ็อลฯ)เป็นผู้ที่มีความสูงสงทางด้านจิตวิญญานเป็นอย่างมาก แต่ทำไมจึงเกิดความเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเกิดขึ้นกับท่านศาสดาได้อีก

เราสามารถตอบคำถามข้างต้นได้ว่า ถึงแม้ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จะมีความสูงส่งทางด้านจิตวิญญาณมากมายเพียงใดก็ตาม แต่ท่านก็ยังเป็นมนุษย์และยังอยู่ในกรอบและโลกแห่งวัตถุ ในขณะที่ท่านกำลังติดต่อสัมพันธ์กับพระเจ้าผู้ทรงยิ่งใหญ่ พร้อมกับรับสาส์นแห่งความเมตตาจากพระผู้เป็นเจ้าซึ่งเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ก็เป็นไปได้ว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อร่างกายได้

รูปแบบการประทานวะฮ์ยู

หากพิจารณาจากรายงานฮะดีษจะพบว่า ในการประทานวะฮ์ยูมี 2 แบบดังนี้

มีฮะดีษเกี่ยวกับประเด็นนี้มากมาย ซึ่งจะขอยกตัวอย่างเพียง 3ฮะดีษ

มีรายงานว่า ฮาริส บิน ฮิชามถามท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ว่า  วะฮ์ยู ถูกประทานมาให้ท่านอย่างไร  ท่านศาสดา (ศ็อลฯ)กล่าวตอบว่า จะมีเสียงคล้ายเสียงระฆังดังก้องในหูฉัน ซึ่งขณะนั้นจะมีวะฮ์ยูประทานลงมาให้ฉัน  ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาที่ลำบากที่สุดสำหรับฉัน หลังจากนั้นเสียงดังกล่าวก็จะหายไปฉันจะจำสิ่งที่  ญิบรออีลประทานลงมาให้ หรือบางที ญิบรออีลจะมาหาฉันในร่างของมนุษย์  และสนทนากับฉันและฉันจะจดจำคำกล่าวของญิบรออีล  แล้วเขาก็จะจากฉันไป

รายงานจากอับดุลลอฮ์ อิบนุ อุมัร กล่าวว่า ฉันเคยถามท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ถึงความรู้สึกขณะที่ท่านรับวะฮ์ยู ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)กล่าวตอบว่า  ฉันจะได้ยินเสียงเหมือนเสียงระฆัง ในขณะนั้นฉันจะนิ่งเงียบ ไม่มีครั้งใดเลยที่วะฮ์ยูจะถูกประทานให้ฉัน  นอกเสียจากว่าฉันจะรู้สึกเหมือนวิญญานกำลังจะออกจากร่างไป

ท่านเชคศอดูกได้บันทึกไว้ในหนังสือเตาฮีด  โดยรายงานจากท่านซุรอเราะฮ์ ได้กล่าวว่า ฉันเคยถามท่านอิมามศอดิก(อ.)ว่า สภาพที่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)เป็นลมหมดสติในขณะที่ท่านกำลังรับวะฮ์ยู เพราะอะไร  ท่านอิมาม ศอดิก(อ.)กล่าวตอบว่า ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาแห่งการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างท่านศาสดา(ศ็อลฯ)กับพระเจ้าซึ่งไม่มีใครเป็นสื่อกลางระหว่างทั้งสองเลย

จากรายงานฮะดีษข้างต้นและฮะดีษอื่นๆ ที่กล่าวถึงประเด็นนี้พอจะสรุปได้ดังนี้ว่า

บางครั้งจะมีเสียงเหมือนระฆังดังก้องหูท่านศาสดา(ศ็อลฯ)หรือบางทีมีเสียงคล้ายเสียงเหล็กสองชิ้นกระทบกัน

ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จะเหนื่อยและอ่อนเพลียเป็นอย่างมาก   ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จะรู้สึกร้อนและจะมีเหงื่อไหลโทรมกาย ใบหน้าและดวงตาของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จะแดงก่ำ  บางครั้งท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จะหมดสติ  หากท่านศาสดา(ศ็อลฯ)อยู่ในสภาพยืนอยู่ บริเวณพื้นดินที่ท่านศาสดายืนอยู่จะยุบตัวลงจนเกิดเป็นรอยเท้าของท่าน

  1. การประทานวะฮ์ยูโดยผ่านสื่อ  ในประเด็นนี้มีรายงานฮะดีษไว้ดังนี้   

รายงานจากท่านอิมามศอดิก(อ.) กล่าวว่า  ในขณะที่ญิบรออีลลงมาหาท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ท่านญิบรออีลจะนั่งด้านหน้าท่านศาสดา(ศ็อลฯ)เหมือนบ่าวที่กำลังนั่งอยู่ต่อหน้านายของเขา  และญิบรออีลจะไม่เข้ามาหาท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ก่อนที่ท่านศาสดา(ศ็อลฯ)จะอนุญาตเสียก่อน

จากฮะดีษบทนี้  แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ที่มีเหนือกว่าท่านญิบรออีลซึ่งอัลกุรอานเรียกท่านญิบรออีลว่า  “ชะดีดุลกุวา”ผู้มีพละกำลังอันแข็งแกร่ง จากตรงนี้จึงสามารถกล่าวได้ว่าการประทานวะฮ์ยูในลักษณะนี้ไม่เป็นที่ลำบากกับท่านศาสดา(ศ็อลฯ)เลย ในบางรายงานฮะดีษยังกล่าวว่า บางครั้งท่านญิบรออีลจะมาในรูปแบบของ  ดิห์ยะฮ์ อิบนุ เคาะลีฟะฮ์ กัลบีย์ ซึ่งในรายงานกล่าวว่า  ดิห์ยะฮ์ อิบนุ เคาะลีฟะฮ์ กัลบีย์เป็นชายหนุ่มรูปงามที่สุดในเมืองมะดีนะฮ์

จากสิ่งที่กล่าวมาข้างต้นทั้งหมดพอจะสรุปได้ว่า วะฮ์ยู คือสิ่งเร้นลับสำหรับมนุษย์ เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่อัลกุรอานเรียกว่า “อัลมุลฆ็อยบ์” ความรู้ที่เร้นลับ  ซึ่งสติปัญญาของมนุษย์ที่ไม่ได้ถูกเลิอกสรรจากพระเจ้าไม่สามารถเข้าใจและรับรู้ได้  ก็จะมีเพียงบรรดาศาสดาเท่านั้นที่เข้าใจถึงแก่นแท้ของวะฮ์ยู แต่สิ่งที่เราสามารถรับรู้ได้ก็คือสิ่งซึ่งเราเห็นได้จากผลที่เกิดขึ้นกับท่านศาสดาเท่านั้น

 

You may also read!

ความรู้ที่แท้จริง

รายงานจากท่านอิมามมูซากาซิมว่า เมื่อท่านศาสนทูตเดินเข้ามัสยิดเห็นคนกำลังนั่งล้อมชายคนหนึ่งอยู่ ท่านศาสนทูตถามพวกเขาว่า เกิดอะไรขึ้นหรือ พวกเขากล่าวตอบว่า ชายคนนี้คือ อัลลามะฮ์ ท่านศาสนทูตกล่าวถามว่า อัลลามะฮ์ คืออะไร ? บรรดาสาวกกล่าวตอบว่า เขาคือผู้รู้มากที่สุดในเรื่องเชื้อสายของชนชาวอาหรับ รู้ความเป็นมาของคนอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮ์อีกทั้งรู้เรื่องบทกวีของชาวอาหรับเป็นอย่างดีด้วย ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า เหล่านี้คือศาสตร์ที่ไม่ได้ทำให้ผู้ไม่รู้เสียประโยชน์แต่อย่างใด หลังจากนั้นท่านศาสดากล่าวต่อว่า แท้จริงความรู้มีสามสิ่งด้วยกัน รู้โองการที่ชัดแจ้ง

Read More...

 อิมามอาลีกับความสมถะ

ท่านศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวกับท่านอิมามอะลีว่า (more…)

Read More...

คนมีปมด้อย

อิมาม ซอดิก (อ) กล่าวว่า ما مِنْ رَجُل تَجَبَّرَ أَؤ تَکَبَّرَ إلاّ لِذِلَّه یَجِدُها قِی نَفْسِهِ “ไม่มีคนใดที่แสดงความโอ้อวดและแสดงตนเหนือผู้อื่น นอกเสียจากว่าเขาพบปมด้อยที่มีในตัวของเขาเอง คำอธิบาย  มีผลสำรวจและคำยืนยันจากนักจิตวิทยาว่า ต้นตอของการโอ้อวดและการยกตนเหนือกว่าผู้อื่นมาจากปมด้อย  เป็นปมด้อยที่ผู้ที่ประสพกับปัญหาทางจิตนี้ต้องทนทุกข์ทรมาน  เพื่อเป็นการชดเชยและปกปิดปมด้อยของตัวเองจึงแสดงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นซึ่งถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจยิ่ง 

Read More...

Leave a reply:

Your email address will not be published.

Mobile Sliding Menu