ครอบครัวถือว่าเป็นส่วนย่อยหนึ่งของสังคมและเป็นสถาบันหลักที่สำคัญและยังถือว่าเป็นรากฐานของโครงสร้างทางสังคมเลยทีเดียว ครอบครัวคือแหล่งของการได้รับการอบรมสั่งสอนและสร้างประสบการณ์ต่างๆ อันแรกเริ่มของมนุษย์
สภาพแวดล้อมทางครอบครัวและสถาบันครอบครัว จะเป็นตัวหล่อหลอมบุคลิกภาพแก่มนุษย์ และเป็นที่มาของการเกิดพฤติกรรมมากมายของมนุษย์ทั้งในความเจริญทางศีลธรรม ทางจริยธรรม และทางสังคม ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่สูงส่งที่แสดงออกของเอกบุคคลเหล่านั้น อาทิ การมีมิตรภาพที่ดี ความเห็นอกเห็นใจ การเสียสละ การสร้างคุณงามความดี การมีจิตใจที่กว้างขวาง ความอดทน และการให้อภัย และอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วแต่ได้ถูกฟูมฟักและถูกฝึกฝนมาจากสถาบันครอบครัวทั้งสิ้น การแสดงออกความเอื้ออาทรและความรักระหว่างสามีภรรยา หรือระหว่างบุตรต่อบิดามารดา และผลที่ดีงามจากครอบครัว จะส่งผลอย่างยิ่งต่อคุณภาพของสังคมนั้น
สิ่งที่กล่าวข้างต้นเกือบทุกสังคมและทุกวัฒนธรรมได้ถูกนำมาปฏิบัติและยึดเป็นคำสอนและเป็นแนวทางการปฏิบัติกันอย่างกว้างขวาง แต่ทว่าในบทความนี้ จะขอนำครอบครัวตัวอย่างที่อัลกุรอานได้แนะนำไว้(ทั้งตัวอย่างของครอบครัวที่ดีและครอบครัวที่ไม่ดี)มากล่าวเป็นการนำเสนอต่อท่านผู้อ่านดังนี้
-กลุ่มที่หนึ่งสามีเป็นผู้มีภาวะศรัทธาแต่ภรรยานั้นเป็นผู้ไร้อีหม่าน (ไร้ภาวะศรัทธา)
อัลกุรอานได้แนะนำครอบครัวของบุคคลผู้ที่อยู่ในฐานะเป็นศาสดาและศาสนทูตบางท่านในหน้าประวัติศาสตร์ แต่ภรรยาของพวกเขากลับเป็นผู้ปฏิเสธและมีภาวะเป็นมิจฉาทิฐิ ดังโองการนี้
“พระองค์อัลลอฮ์ทรงยกอุทาหรณ์หนึ่งสำหรับผู้ปฏิเสธและภรรยาของศาสดานูห์” (ซูเราะฮ์อัตตะห์รีม โองการที่ 10)
ซึ่งศาสดานูห์ (อ.) และศาสดาลูฏ (อ.) ทั้งสองเป็นผู้ศรัทธาและอยู่ในฐานะของผู้มีศีลธรรมและเป็นกัลยาณชนของพระผู้เป็นเจ้า แต่ทว่าภรรยาของบุคคลทั้งสองได้แสดงการปฏิเสธและมีความทิฐิมานะ
ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงความหายนะและความอัปยศของภรรยาของศาสดาลูฏ (อ.) ไว้อีกหลายโองการทีเดียว ดังเช่น
“ดังนั้นเราได้ให้เขา(ลูฏ) และครอบครัวของเขาปลอดภัยยกเว้นภรรยา ซึ่งเธอนั้นมาจากกลุ่มชนผู้หายนะ” (ซูเราะฮ์อะอ์รอฟ โองการที่ 83)
-กลุ่มที่สอง สามีเป็นผู้ไร้ภาวะศรัทธา (ไร้อีหม่าน)และภรรยาเป็นผู้มีภาวะศรัทธา (อีหม่าน)-
ตัวอย่างนี้ในอัลกุรอานได้กล่าวถึงครอบครัวบางครอบครัวที่สามีของพวกเธอเป็นผู้ปฏิเสธและมีความแข็งกระด้าง แต่ภรรยากลับเป็นผู้อ่อนน้อมและศรัทธาต่อพระเจ้า ดังโองการที่ว่า
“องค์อัลลอฮ์ทรงยกตัวอย่างหนึ่ง สำหรับผู้ศรัทธาชนทั้งหลาย นั่นคือ ภรรยาของฟิรอูน ครั้นเมื่อเธอกล่าวว่า โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ โปรดทรงสร้างบ้านสักหลังหนึ่งให้ข้าพระองค์ในสวนสวรรค์ด้วยเถิด และได้โปรดให้ความปลอดภัยจากฟิรอูนและการกระทำของฟิรอูนด้วยเถิด และได้โปรดให้ข้าฯรอดพ้นจากกลุ่มชนผู้กดขี่ด้วย” (ซูเราะฮ์อัตตะรีม โองการที่ 11)
ในหนังสือตัฟซีร”มัจมะอุลบะยาน”ได้กล่าวว่า เมื่อท่านหญิงอาซียะฮ์ ภรรยาของฟิรอูนได้ประจักษ์ต่อปฎิหาริย์ของศาสดามูซา(อ.) นางก็ยอมรับและมีศรัทธาต่อพระเจ้าทันที และเมื่อฟิรอูนเห็นว่าภรรยาของตนศรัทธาในพระเจ้าและศรัทธาต่อศาสดามูซา(อ.) เขาได้ทรมานนางอาซียะฮ์อย่างโหดเหี้ยม โดยจับเธอขังไว้ใต้แสงแดดอันร้อนระอุและฝังเท้าของเธอในพื้นทรายที่ร้อนระอุ แต่ในช่วงชีวิตสุดท้ายของท่านหญิงอาซียะฮ์ เธอได้กล่าวขอดุอาต่อพระองค์อัลลอฮ์ (ซบ.) ว่า
“โอ้พระผู้อภิบาลของข้าฯ โปรดทรงสร้างบ้านสักหลังหนึ่งให้ข้าพระองค์ในสวนสวรรค์ด้วยเถิด”
จากเหตุการณ์และเรื่องราวที่กล่าวข้างต้นชี้ให้เห็นถึงบทเรียนต่างๆมากมายและมีหลายแง่มุม ซึ่งนั่นก็คือ สำหรับสตรีและภรรยามีสิทธิและเสรีภาพในการเลือกทางเดิน และไม่จำเป็นจะต้องเชื่อฟังต่อสามีผู้ฉ้อฉลหรือเป็นผู้หลงทาง เพราะมีตัวอย่างมากมายที่สตรีอยู่ในบ้านเรือนของเธอหรือบ้านของบิดาโดยที่พวกเธอได้ยึดปฏิบัติตามคำสอนของศาสนาและยึดมั่นโดยคำนึงถึงภาพลักษณ์และเอกลักษณ์ของศาสนาอย่างเคร่งครัด แต่เมื่อเธอได้แต่งงานและไปใช้ชีวิตคู่กับสามีทำให้เธอนั้นเปลี่ยนแปลงไปและมีภาวะทางศรัทธาอ่อนแอและเบาบางลงไปอย่างน่าแปลกทีเดียว
คุณลักษณะที่พิเศษหนึ่งของภรรยาฟิรอูน คือเธอได้ยึดเอาความพึงพอใจของพระเจ้านำหน้าความพอใจของสามี ซึ่งนั่นคือระหว่างสองทางนั้นเธอได้เลือกเอาความตายและการเสียชีวิตเพื่อความพึงพอใจของพระเจ้า
ในประวัติศาสตร์ของบุคคลอื่นๆก็ประจักษ์ได้เช่นกันว่า มีสตรีกลุ่มหนึ่งที่ยืนหยัดต่ออุดมการณ์และไม่ยอมคล้อยตามแนวทางอันบิดเบือนของสามี โดยที่พวกเธอได้ดำเนินตามเส้นทางอันสัจธรรมนั้นอย่างหนักแน่น เช่น ภรรยาของซุฮัยร์ บิน ไกน์ ที่มีบทบาทในการสร้างวีรกรรมแห่งกัรบาลาอย่างน่าสรรเสริญยิ่ง
–สามีและภรรยาผู้เปี่ยมล้นด้วยภาวะศรัทธา (อีหม่าน)-
ท่านอิมามอะลี (อ.)และท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) คือคู่สามีภรรยาตัวอย่างที่ได้ให้ผลสะท้อนถึงคุณค่าแห่งจิตวิญญาณอันสูงส่งแก่มนุษยชาติ ซึ่งอัลกุรอานได้กล่าวถึงฐานะภาพและตำแหน่งทั้งสองในฐานะผู้ไร้มลทิน เป็นผู้บริสุทธิ์ ดังโองการเกี่ยวกับความเป็นมะอ์ซูมของท่านทั้งสอง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าสถาบันครอบครัวของบุคคลทั้งสองเต็มเปี่ยมไปด้วยคุณค่าและคุณงามความดี เป็นบุคคลไร้ความแปดเปื้อนความมลทินทั้งทางกายภาพและทางจิตภาพอย่างสิ้นเชิง ดังโองการที่ว่า
“อันแท้จริงแล้วองค์อัลลอฮทรงประสงค์จะขจัดความมลทินออกไปจากพวกเจ้า โอ้อะลุลบัยต์ และจะชำระพวกเจ้าให้สะอาดบริสุทธิ์”
และยังมีโองการอื่นๆอีกมากมายที่กล่าวถึงบุคลิคภาพของบุคคลทั้งสอง เช่นในซูเราะฮ์อัลอินซาน โองการที่ 8-9 )ที่ว่า
“และพวกเขาให้อาหารเนื่องด้วยความรักต่อพระองค์แก่คนยากจน เด็กกำพร้าและเชลยศึก
(พวกเขากล่าวว่า) แท้จริงเราให้อาหารแก่พวกท่าน โดยหวังความโปรดปรานของอัลลอฮฺ เรามิได้หวังการตอบแทนและการขอบคุณจากพวกท่านแต่ประการใด”
โองการนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงการเสียสละของครอบครัวดังกล่าวอย่างน่าทึ่งและเป็นแบบอย่างที่ดีงามยิ่ง
ได้มีรายงานกล่าวไว้ว่า อิมามฮะซัน (อ.) และอิมามฮุเซน (อ.) ไม่สบายและป่วยหนัก และท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) พร้อมกับสาวกของท่านได้มาเยี่ยมเด็กทั้งสอง และศาสดาได้เสนอแนะแก่ท่านอิมามอะลี (อ.)ว่า ให้ทำการบนบานโดยการถือศีลอดเพื่อให้เด็กทั้งสองหายจากการป่วย เมื่อทั้งสองคือท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) ได้ทำการบนบาน เด็กทั้งสองก็มีอาการดีขึ้น ดังนั้นทั้งสองจึงได้ทำการถือศีลอดสามวัน แต่เมื่อจะละศีลอดซึ่งก็ไม่มีอาหารมากนัก มีเพียงขนมปังจำนวนหนึ่ง ซึ่งเมื่ออิมามอะลี (อ.) ได้นมาซมัฆริบเสร็จ เตรียมจะละศีลอด ในคืนแรกนั้นได้มีชายผู้ยากไร้มาขออาหารและคืนที่สองมีชายผู้ยากจนและคนที่สามมีเชลยมาขออาหารเหมือนเคย ครอบครัวของอิมามอะลี (อ.) ได้มอบอาหารที่เหลืออยู่นั้นให้กับผู้ยากไร้และคนจนและเชลยหมดทั้งสามคืน โดยที่พวกเขาได้ละศีลอดกันด้วยกับน้ำเปล่า โองการอัลกุรอานข้างต้นจึงถูกประทานลงมา
มีประเด็นและเนื้อหาสาระทางประวัติศาสตร์เชิงวิเคราะห์ในเรี่องดังกล่าวคือ แท้จริงการปฏิบัติและสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นเป็นเรื่องของความงดงามและความมีเกียรติ เป็นวิถีที่ศักสิทธิ์ ซึ่งแม้แต่ศาสดา(ศ็อลฯ) ก็ไม่ได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ครั้งนั้น มีเพียงท่านอิมามอะลี (อ.) และท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) เท่านั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าความประเสริฐที่โองการอัลกุรอานได้กล่าวไว้นั้นมีเพียงอะลุลบัยต์ของศาสดา(ศ็อลฯ) เท่านั้นที่จะได้รับ
หรือถ้าจะนำบุคคลมาอ้างถึงโองการที่กล่าวถึงชายที่ดีงามนั้นย่อมคู่ควรกับหญิงที่ดีงาม ดังโองการที่ว่า
“และหญิงดีย่อมคู่ควรกับชายดี และชายดีย่อมคู่ควรกับหญิงดี” (ซูเราะฮ์นูร โองการที่ 26)
นั่นคือคู่ครองแห่งผู้มีจิตวิญญาณแห่งพระเจ้าและเป็นคู่ครองที่ดีที่สุด ซึ่งก็คือคู่ครองของท่านอิมามอะลี (อ.) กับท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) หรืออีกโองการหนึ่งที่กล่าวว่า
“จงช่วยเหลือเกื้อกูลกันในสิ่งที่ดีและมีความยำเกรง” (ซูเราะฮ์อัลมาอิดะฮ์ โองการที่ 2)) ก็กล่วถึงครอบครัวที่มีสามีและภรรยาที่ดีงาม
หลังจากที่ท่านศาสดามุฮัมมัด(ศ็อลฯ) ได้ทำพิธีแต่งงานระหว่างฟาติมะฮ์ (อ.) กับอะลี (อ.) แล้ว ก็ได้มายังบ้านของบุคคลทั้งสอง ซึ่งได้กล่าวถามกับท่านอะลี (อ.) เป็นการเริ่มต้นว่า “เจ้าเห็นภรรยาของเจ้าเป็นอย่างไร?”
อิมามอะลี (อ.) กล่าวว่า” เป็นคู่ชีวิตที่ดีที่สุด เพื่อไปสู่การภักดีต่อพระเจ้าอย่างสมบูรณ์แบบ”
และท่านศาสดามูซา (อ.) ก็มีภรรยาที่ดี ซึ่งเธอนั้นเป็นลูกสาวของท่านศาสดาชุอัยบ์ (อ.) อัลกุรอานได้ยกย่องและแนะนำภรรยาของศาสดามูซา(อ.) ไว้เป็นแบบอย่าง โดยอัลกุรอานได้กล่าวถึงคุณลักษณะที่ดีของเธอไว้ว่า
“นางคนหนึ่งในสองคนได้มาหาเขา เดินมาอย่างเอียงอาย แล้วกล่าวขึ้นว่า “บิดาของฉันขอเชิญท่านไป เพื่อจะตอบแทนค่าแรงแก่ท่านที่ได้ช่วยตักน้ำให้เรา” (ซูเราะฮ์กอศอศ โองการที่ 25)
ตัวอย่างที่สี่ ทั้งสามีและภรรยาเป็นคนเลว-
ตัวอย่างของกลุ่มที่สี่ อาทิ อะบูละฮับและภรรยาของเขา ซึ่งทั้งสองคือแบบอย่างของคนบาปและเป็นผู้ปฏิเสธ ซึ่งทั้งสองได้ตั้งตนเป็นปรปักษ์และต่อต้านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ทั้งสองเป็นตัวอย่างหนึ่งของโองการที่ว่า
“ผู้ต่ำช้าหญิงเป็นคู่ครองของผู้ต่ำช้าชาย และคนเลวหญิงก็เป็นคู่ของคนเลวชาย” และในซูราะฮ์ มะซัด โองการที่ 1-5 คือ สิ่งที่อัลกุรอานได้กล่าวตำหนิของบุคคลทั้งสองอย่างน่าอัปยศยิ่ง ดังนี้
“มือทั้งสองของอะบีละฮับจงพินาศ และเขาก็พินาศแล้ว
ทรัพย์สมบัติของเขา และสิ่งที่เขาได้ขวนขวายไว้นั้นมิได้อำนวยประโยชน์แก่เขาเลย
เขาจะเข้าไปเผาไหม้ในนรกที่มีไฟลุกโชน
ทั้งภรรยาของเขาด้วย นางเป็นผู้แบกฟืน
ที่คอของนางมีเชือกถักด้วยใยอินทผลัม”
ได้มีบทรายงานว่า แท้จริงครั้นเมื่อศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) ได้เรียกร้องประชาชนสู่การยอมรับว่า”ไม่มี พระเจ้าอื่นใด นอกจากอัลลอฮ์ (ซบ.) เพียงองค์เดียว” ทันใดนั้นอะบูละฮับได้อยู่ด้านหลังของศาสดาแล้วตะโกนว่า อย่าไปเชื่อมุฮัมมัด เขาเป็นผู้โกหก และยังได้เอาก้อนหินปาใส่ท่านศาสดา หรือบางครั้งได้มีผู้มามายังเมืองมักกะฮ์ และพวกเขาได้ไปหาอะบูละฮับ แล้วถามถึงมุฮัมมัด แต่อบูละฮับกล่าวว่า “แท้จริงมุฮัมมัดเป็นคนบ้า และเรากำลังดูแลพฤติกรรมของเขาอยู่”
อะบูละฮับไม่เคยวางมือหรือละวางจากการกลั่นแกล้งศาสดา และอะบูละฮับกับภรรยาของเขาได้ทำการต่อต้านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อลฯ) และได้พูดจาถากถางและเหน็บแหนมอย่างน่ารังเกียจยิ่ง ด้วยเหตุนี้อัลกุรอานจึงได้กล่าวถึงชื่อของคนทั้งสองว่าเป็นผู้ที่นำตัวเองสู่ไฟนรกและภรรยาของเขาเป็นเชื้อเพลิงของไฟนรก
ภรรยาของอะบูละฮับ เป็นนักกวี ชื่อว่า อุมมุลญะฮัล เป็นพี่สาวของอะบูซุฟยาน และเป็นป้าของมุอาวียะฮ์ ซึ่งเธอนั้นได้เก็บความเคียดแค้นต่อศาสดา (ศ็อลฯ) ไว้ในใจมาช้านานแล้ว เธอได้แต่งบทกวีเสียดสีและดูหมิ่นศาสดาอย่างน่ารังเกียจยิ่ง เธอมีสร้อยคอราคาแพงอยู่เส้นและได้สาบานว่าจะขายมันไปเพื่อต่อต้านศาสดา โองการอัลกุรอานได้กล่าวถึงเธอว่า
“ที่คอของนางมีเชือกถักด้วยใยอินทผลัม”
ท่านอิมามอะลี (อ.) ได้เขียนสาส์นฉบับหนึ่งแก่มุอาวียะฮ์ มีใจความว่า
“ สำหรับเรานั้น มีสตรีที่ดีเลิศแห่งมนุษยชาติ ส่วนเจ้ามาจากบุคคลที่นำไม้ฟืนมาเป็นเชื้อเพลิงแห่งไฟนรก”
การยืนยันของอัลกุรอานได้กล่าวถึงการสืบสานเจตนารมณ์แห่งมารร้าย ซึ่งต้องการจะชี้ให้เห็นว่า พฤติกรรมนั้นจะส่งผลไปยังกิยามะฮ์ และในวันกิยามะฮ์พวกเขาจะเป็นศัตรูกันและกัน ดังโองการอัลกุรอานได้กล่าวว่า
“ในวันนั้นบรรดามิตรสหายจะเป็นศัตรูกัน นอกจากบรรดาผู้ยำเกรง (อัลลอฮ์)” (ซูเราะฮ์ซุครุฟ โองการที่ 67)
จากบทความสั้น ๆ ที่ท่านได้อ่านผ่านมานี้ เป็นเพียงบทความสั้น ๆ ที่ต้องการหยิบยกมาเล่าสู่กันฟังถึงบทบาทในการชี้นำของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานให้เราในฐานะปวงบ่าวของพระองค์ได้ดำรงชีวิตอยู่ในครรลองครองธรรม เป็นผู้แบกรับภาระหน้าที่ของการภักดีในทุกสภาวะการณ์ และแบบอย่างของครอบครัวทั้งสี่ที่อัลกุรอานกล่าวถึง ก็เป็นการชี้นำให้เราท่านได้เลือกเดินอย่างเสรีว่าจะประคับประคองชีวิตคู่อย่างท่านอิมามอะลี (อ.) กับท่านหญิงฟาติมะฮ์ (อ.) อันเป็นแบบอย่างของชีวิตที่สมบูรณ์แบบที่สุดหรือจะพาครอบครัวเดินออกจากทางนำอันเที่ยงตรงสู่เส้นทางของชัยฏอนมารร้าย