วัฒนธรรมกุรอาน วัฒนธรรมแห่งยุคสมัย

In อัลกุรอาน

هُوَ الَّذِي أَرْسَلَ رَسُولَهُ بِالْهُدَى وَدِينِ الْحَقِّ لِيُظْهِرَهُ عَلَى الدِّينِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ الْمُشْرِكُونَ

“พระองค์คือผู้ทรงส่งรอซูลของพระองค์ด้วยการชี้นำทาง และศาสนาแห่งสัจธรรมเพื่อพระองค์จะทรงให้ศาสนาอิสลามอยู่เหนือศาสนาทั้งมวล ถึงแม้พวกตั้งภาคีจะเกลียดชังก็ตาม” (ซูเราะฮ์อัศศ๊อฟ โองการที่ 9)

หากเราคิดว่าเหตุผลของการประทานลงมาของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน สืบเนื่องมาจากอิทธิพลของวัฒนธรรมที่มีอยู่ในยุคสมัยของการลงมาของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน นั่นเป็นความคิดที่ผิดอย่างมหันต์ที่เรามีต่อพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ซึ่งความเป็นจริงแล้ว พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานนั้น ถูกประทานลงมา เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมใหม่แก่มนุษยชาติ และมาเพื่อต่อสู้กับวัฒนธรรมที่เลวร้ายต่างหาก 

พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานลงมาเพื่อสร้างวัฒนธรรม มิใช่ลงมาเนื่องจากได้รับอิทธิพลของวัฒนธรรมหนึ่งวัฒนธรรมใด  ในประวัติศาสตร์พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้มีหลักฐานที่ชัดแจ้งที่สุดเอาไว้ ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่และยืนยันถึงความเป็นสิ่งพ้นญาณวิสัยที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของศาสนาอิสลามมาแล้ว พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของมนุษยชาติบนโลกใบนี้ ไม่ใช่เฉพาะในคาบสมุทรอาหรับเท่านั้น แต่ทว่าพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้กลายเป็นผู้ชี้นำมนุษยชาติ และได้นำเสนอวัฒนธรรมแห่งพระผู้เป็นเจ้าแก่มนุษยชาติ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่บริสุทธิ์ผุดผ่อง วัฒนธรรมที่นำมนุษยชาติไปสู่การเคารพภักดีพระผู้เป็นเจ้าองค์เดียว พร้อมกับการทำลายล้างวัฒนธรรมอันป่าเถื่อนที่มีอยู่เกลื่อนกลาดบนโลกใบนี้ นี่คือหลักฐานอันชัดแจ้งสำหรับความสมบูรณ์แบบแห่งอัลอิสลาม 

หลากหลายศาสนาที่ถือกำเนิดมาแต่ก็ต้องล้มสลายไปในไม่ช้า แต่ทว่านับตั้งแต่วันแรกที่อิสลามได้ถูกประกาศอย่างสมบูรณ์แบบ และวันเวลาผ่านไปนับพันปีอิสลามก็มีแต่จะรุ่งเรืองและรุ่งโรจน์ขึ้นเรื่อยๆ ไปตามกาลเวลา และความรุ่งโรจน์นี้ก็จะดำเนินไปอย่างมิมีวันจบสิ้น อิสลามเป็นศาสนาที่สามารถตอบสนองความกระหายของมนุษยชาติได้ตลอดเวลา ในทุกเรื่อง ในทุกสถานการณ์ 

ศาสนาอิสลามมิใช่ศาสนาแห่งการบังคับ หรือศาสนาแห่งการฝืน เพราะเหตุว่าการบังคับและการฝืนนั้น จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมีสภาวะแห่งการต่อต้านและไม่ยอมรับเท่านั้น แต่อิสลามได้นำเสนอวัฒนธรรมแก่มนุษยชาติ ซึ่งวัฒนธรรมเหล่านั้นสอดคล้องกับจิตใต้สำนึกของมนุษย์โดยแท้ เมื่อเป็นเช่นนั้น ศาสนาอิสลามจึงเป็นศาสนาและแนวทางที่นมุษยชาติต่างรอคอย และเมื่ออิสลามมีมามนุษยชาติต่างน้อมรับ และศาสนาอิสลามมีชัยเหนือศาสนาอื่นๆ ทุกศานาในไม่ช้า 

ศาสนาอิสลามมีรากฐานที่มั่นคงและชัดเจนที่สุด ไม่ใช่ศาสนาที่ฝืนกับธรรมชาติของมนุษย์ ดังนั้นถูกต้องแล้วหรือที่มีบางคนได้กล่าวว่า ศาสนาอิสลามมีรากฐานและได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมอันป่าเถื่อนของพวกอาหรับ?????? 

หากบุคคลเหล่านั้นกลับไปศึกษาประวัติศาสตร์ของอาหรับในยุคนั้นสักนิด อยากถามว่า สังคมและวัฒนธรรมของอาหรับในยุคนั้นเป็นที่รู้จักของสังคมโลกด้วยหรือ????? แต่เท่าที่ทราบตามบันทึกในประวัติศาสตร์โลก ไม่มีนักประวัติศาสตร์คนใดยอมรับถึงวัฒนธรรมของอาหรับเลยแม้แต่คนเดียว ว่าพวกอาหรับก็มีวัฒนธรรมเหมือนกัน?????? แล้วเอาเหตุผลใดมาอ้างว่าพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของอาหรับ??????? 

ซึ่งในประวัติศาสตร์ได้บันทึกไว้หลังจากการมาของอิสลาม ศาสดามุฮัมมัด และพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน วัฒนธรรมต่างๆ ต่างล่มสลาย ซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในหมู่นักบันทึกประวัติศาสตร์

هُوَ الَّذِي أَرْسَلَ رَسُولَهُ بِالْهُدَى وَدِينِ الْحَقِّ لِيُظْهِرَهُ عَلَى الدِّينِ كُلِّهِ وَلَوْ كَرِهَ الْمُشْرِكُونَ

นี่คือหลักฐานอันชัดแจ้งที่สุดถึงความศักดิ์สิทธิของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ดังนั้นบุคคลที่เขาได้กล่าวคำพูดอันโง่เขลาเบาปัญญาเหล่านั้นออกมา เขาไม่เข้าใจและเข้าไม่ถึงเป้าหมายที่แท้จริงของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานต่างหาก  ปัญหาคือเขาตีความหมายแบบผิดๆ จากพระดำรัสของพระผู้เป็นเจ้า และมานำเสนอข้อผิดพลาดของตนเอง มิใช่ข้อผิดพลาดของพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานแต่อย่างใด

จึงใคร่จะยกตัวอย่างเพื่อสร้างความเข้าใจแก่บุคคลเหล่านั้น สักสองสามตัวอย่าง เช่นเรื่องของ ญินและชัยฏอน ที่พวกเขากล่าวว่าพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้รับอิทธิพลเรื่องดังกล่าวนี้มาจากวัฒนธรรมของชาวอาหรับ แต่เราก็มิอาจจะคัดค้านได้เพราะเป็นเช่นนั้นจริงๆ  แล้วเรื่องมะลาอิกะฮ์ เรื่องรูฮ์อีกเรื่องเหล่านี้ได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมใด??? เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องราวแห่งศาสนาของทุกๆศาสนา ซึ่งแต่ละศาสนานั้นก็จะมีข้อพิสูจน์กันเอง เราจึงไม่สามารถที่จะกล่าวว่านั่นคือความงมงายหรือเป็นความเชื่อที่ผิด แต่คนที่นำมาสาธยายกลับไม่เข้าใจเองว่า ญิน รูฮ์ ชัยฏอน คืออะไรกันแน่ หรือว่าไม่เคยอ่านโองการในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานที่ว่า “และข้าไม่ได้สร้างญินและมนุษย์เพื่อสิ่งอื่นใด เว้นแต่เพื่อการเคารพภักดีต่อข้า” (ซูเราะห์ อัซซาริยาต โองการที่ 56)

จริงๆเรื่องของชัยฏอนมารร้ายนั้นไม่ได้เป็นที่ถกเถียงกัน แต่พูดถึงเรื่องของ การล่อลวงของชัยฏอนมารร้ายต่างหาก หมายถึงที่พวกเขากำลังกล่าวหาว่ามันเป็นเรื่องที่งมงายนั้น คือเรื่องของการล่อลวงของชัยฏอนมารร้าย ให้เข้าใจง่ายขึ้นคือพวกเขากำลังเข้าใจว่าชัยฏอนมารร้ายสามารถที่จะมีอิทธิพลเหนือมนุษย์ ชัยฏอนมารร้ายสามารถรังแกหรือทำอันตรายมนุษย์ได้ หรืออีกหลายๆประการในทำนองเดียวกันนี้ และบางคนได้กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้รับอิทธิพลเรื่องเหล่านี้มาจากวัฒนธรรมอาหรับ เนื่องจากชาวอาหรับมีความเชื่อเช่นนั้นจริงๆ ในหมู่อาหรับสมัยนั้นหากมีคนใดที่มีอารมณ์ผิดปกติ พวกเขาจะมีความเชื่อว่าญินหรือชัยฏอนมารร้ายได้เข้าครอบงำคนๆนั้นแล้ว หรือชาวอาหรับส่วนมากจะมีความเชื่อเกี่ยวกับรูปร่างลักษณะของชัยฎอน ว่ามีเช่นนั้นเช่นนี้ ซึ่งพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานมีทัศนะที่คัดค้านกับความเชื่อของชาวอาหรับโดยสิ้นเชิง

เรื่องดังกล่าว พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ได้ทรงตรัสว่า 

الَّذِينَ يَأْكُلُونَ الرِّبَا لاَ يَقُومُونَ إِلاَّ كَمَا يَقُومُ الَّذِي يَتَخَبَّطُهُ الشَّيْطَانُ مِنَ الْمَسِّ

“บรรดาผู้กินดอกเบี้ยนั้น (ในวันฟื้นคืนชีพ) พวกเขาจะไม่ลุกขึ้น นอกจากจะเป็นเช่นเดียวกับผู้ที่ชัยฏอนทำร้ายเขาจนสติฟั่นเฟือน ไม่สามารถทรงตัวได้” (ซูเราะห์บะกอเราะห์ โองการที่ 275) บางครั้งเขาจะล้มทั้งยืนในขณะที่ลุกขึ้นยืน สติของเขาจะฟั่นเฟือนเหมือนคนบ้า นี่คือสภาพของผู้ที่กินดอกเบี้ย อันเนื่องจากว่าเขาจะมีปัญหาตลอดเวลาในการดำเนินชีวิตของเขา เรื่องตั๋วแลกเงินบ้าง เรื่องเช็คเด้งบ้าง หนี้สินผ่อนไม่ทันบ้าง เขาจะอยู่กับสภาพเช่นนี้อยู่ตลอดเวลา  เราจะเห็นบุคคลเหล่านี้นั่งอยู่ตามหน้าร้านค้าต่างๆ ด้วยหัวใจที่กระวนกระวายเพราะต้องติดต่อกับคนมาหน้าหลายตา ต้องติดตามลูกหนี้ หนีเจ้าหนี้ มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับคนโน้นคนนี้ ขึ้นศาลอยู่เป็นนิจสิน ชีวิตของมีความกระวนกระวายใจเป็นเพื่อนตลอดเวลา 

พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานจึงกล่าวแก่บุคคลพวกนี้ว่า “لاَ يَقُومُونَ  พวกเขาจะไม่สามารถลุกขึ้นยืนได้” หมายถึงในการใช้ชีวิต พวกเขาจะไม่สามารถยืนด้วยตัวของพวกเขาเองได้ 

يَتَخَبَّطُهُ الشَّيْطَانُ  إِلاَّ كَمَا يَقُومُ الَّذِي

นอกจากจะเป็นเช่นเดียวกับผู้ที่ชัยฏอนทำร้ายเขาจนสติฟั่นเฟือน หรือกลายเป็นคนบ้า หมายถึงพวกเขาจะถูกชัยฏอนมารร้ายลวงล่อจนกลายเป็นคนที่มีสติฟั่นเฟือนคนบ้าในที่สุด 

ในที่นี้พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้อธิบายเรื่องของการลวงล่อของชัยฏอนมารร้าย เหมือนกับความเชื่อของชาวอาหรับโดยตรง แต่ทว่าความจริงก็คือ ทั้งญิน และชัยฏอนมารร้ายตามทษฎีทางฟิสิก และหลักความเชื่อของเรา พวกมันไม่สามารถที่จะทำอันตราย หรือสามารถครอบงำมนุษย์ได้ เช่นหากมนุษย์ยืนอยู่ที่ขั้นบันใด ไม่ว่าญินหรือชัยฏอนมารร้ายจะไม่สามารถที่จะผลักให้มนุษย์ตกลงจากบันใดได้ หรือหากเราจะรับประทานอาหาร ทั้งญินและชัยฏอนมารร้ายก็ไม่สามารถที่จะคว่ำภาชนะอาหารที่เรากำลังจะรับประทานได้ นี่คือหลักความเชื่อหนึ่งของเรา ชีอะฮ์ เพราะหลักความเชื่อของชีอะฮ์ตั้งอยู่บนพื้นฐานของวิทยปัญญา ที่สิ่งซึ่งไร้ตัวตนจะไม่สามารถมีอิทธิพลเหนืออีกสิ่ง หนึ่งได้ ในขณะที่อีกสิ่งไม่สามารถที่จะปกป้องตนเองได้ ดังนั้นหากเราคือชีอะฮ์ เราต้องยอมรับว่าชีอะฮ์จะเชื่อในสิ่งที่อยู่บนพื้นฐานแหงวิทยปัญญา เป็นวิทยปัญญาแห่งพระผู้เป็นเจ้า 

วิทยปัญญาแห่งพระผู้เป็นเจ้า เป็นไปไม่ได้ที่จะอนุญาติให้เชื่อว่า มนุษย์จะมีอันตรายจากสิ่งซึ่งไร้ตัวตนและมองไม่เห็น ซ้ำยังไม่มีโอกาสที่จะปกป้องตนเองจากอันตรายเหล่านั้นได้อีกประการหนึ่ง ดังนั้นเมื่อวันแห่งการตัดสินมาถึง มนุษย์จะกล่าวด้วยเสียงอันดังว่า “ชัยฏอน ชัยฏอน ชัยฏอน” จนกระทั่งพระองค์ทรงตรัสว่าไปนำตัว ชัยฏอน มาซิ แล้วมาดูว่าด้วยเหตุใดกันมนุษย์จึงโยนความผิดทั้งหมดของพวกเขาให้แก่ชัยฏอน เมื่อชัญฏอนถูกนำตัวมา มวลมนุษย์ต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า “ความตายจงมีแด่ชัยฏอน ๆๆๆๆๆ เจ้าได้ทำให้พวกเราต้องหลงทางๆๆๆๆ” ชัยฏอนจึงได้กล่าวขึ้นว่า “ใจเย็นๆๆๆ” และกล่าวต่อว่า “ฉันไม่ได้มีอำนาจเหนือพวกท่านเลยแม้แต่ครั้งเดียว เว้นเสียแต่ฉันแค่เชิญชวนพวกท่าน และพวกท่านก็น้อมรับคำเชื้อเชิญของฉันเสียเอง” ชัยฏอนได้กล่าวต่ออีกว่า “คิดดูดีๆๆซิ พระองค์ทรงส่งบรรดาศาสนทูตมายังพวกท่านตั้งมากมายเพื่อนำทางพวกท่าน พร้อมกับสัญญาณต่างๆ อีกมากมาย แต่พวกท่านเองไม่ได้ยอมรับและปฏิบัติตาม แต่เมื่อฉันได้กระซิบกระซาบพวกให้หันเหไปอีกทางหนึ่ง พวกท่านกลับเชื่อฟังและปฏิบัติตามอย่างง่ายดาย ดังนั้นเป็นความผิดของพวกท่านเองไม่ได้เกี่ยวอะไรกับฉันเลยแม้แต่นิด”

นี่คือความหมายของ การล่อลวงของชัยฏอนมารร้าย สำหรับผู้ที่กินดอกเบี้ย เขายอมเป็นทาสของชัยฏอนมารร้ายเพียงแค่โดนกระซิบกระซาบ เขาไม่สามารถที่จะทรงตัวและควบคุมตัวของเขาเองได้ การลวงล่อของชัยฏอนมารร้ายได้ทำลายระบบประสาททั้งหมดของเขาอย่างสิ้นเชิง

และในอีกโองการหนึ่งในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน

اسْتَحْوَذَ عَلَيْهِمُ الشَّيْطَانُ فَأَنسَاهُمْ ذِكْرَ اللَّهِ أُوْلَئِكَ حِزْبُ الشَّيْطَانِ أَلَا إِنَّ حِزْبَ الشَّيْطَانِ هُمُ الْخَاسِرُونَ

“ชัยฎอนมารร้ายได้เข้าไปครอบงำพวกเขาเสียแล้ว มันจึงทำให้พวกเขาลืมการรำลึกถึงอัลลอฮ์ ชนเหล่านั้นคือบรรดาพรรคพวกของชัยฏอน พึงทราบเถิดว่า แท้จริงพรรคพวกของชัยฏอนนั้น พวกเขาเป็นผู้ขาดทุน” (ซูเราะห์อัล มุญาดะละฮ์ โองการที่ 19)   

และอีกโองการหนึ่งที่พระองค์อัลลอฮ์ได้ทรงตรัสไว้เกี่ยวกับท่านศาสดาอัยยู๊บ (อ.) ว่า

وَاذْكُرْ عَبْدَنَا أَيُّوبَ إِذْ نَادَى رَبَّهُ أَنِّي مَسَّنِيَ الشَّيْطَانُ بِنُصْبٍ وَعَذَابٍ

“และจงรำลึกถึงบ่าวของเรา อัยยู๊บ เมื่อเขาวิงวอนขอต่อพระเจ้าของเขา โดยกล่าวว่า ชัยฏอนมารร้ายได้ทำให้ฉันได้รับความเหนื่อยยาก และทุกข์ทรมาน” (ซูเราะฮ์ อัศศ๊อด โองการที่ 41) 

ท่านศาสดาอัยยู๊บ (อ.) ได้กล่าวแก่พระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ว่า “โอ้อัลลอฮ์ ชัยฏอนมารร้ายได้ทำให้ฉันได้รับความเหนื่อยยาก และทุกข์ทรมาน” แล้วชัยฏอนมารร้ายทำอะไรกับท่านศาสดาอัยยู๊บหรือ??? แน่นอนชัยฏอนไม่ได้เอามีดมาทิ่มแทงท่าน หรือหยิบไม้มาทุบตีท่าน หรือมีอิทธิพลใดๆ เหนือท่านศาสดาอัยยู๊บแต่ประการใด แต่สิ่งที่ชัยฏอนได้สร้างความเหนี่อยยาก และทุกข์ทรมานแก่ท่านก็คือ การที่ชัยฏอนมารร้ายได้ยุแหย่ ล่อลวงแก่ผู้ที่ต้องการเป็นผู้ศรัทธาในสิ่งที่ท่านนำมาประกาศนั่นเอง โดยการยุแหย่ว่า อย่าไปหาเขาเลย อย่าไปเชื่อปฏิบัติตามเขาเลย ยุแหย่ใส่ร้ายต่างๆนานา จนหลายคนไม่ยอมเชื่อฟังท่านศาสดาอัยยู๊บ (อ.) จนทำให้ท่านศาสดาอัยยู๊บต้องต้องเหน็ดเหนี่อยและทุกข์ทรมาน ดังนั้นโองการข้างต้นจึงเป็นแค่การรำพึงถึงสถานภาพของท่านศาสดาอัยยู๊บ (อ.) เท่านั้น ไม่ได้หมายความว่า ชัยฏอนมารร้ายสร้างความเหนี่อยยากและทุกข์ทรมานแก่ท่านโดยตรง  

อีกโองการหนึ่งพระองค์อัลลอฮ์ (ซ.บ) ทรงตรัสเอาไว้เกี่ยวกับผลของต้น “ซักกูม” ซึ่งเป็นต้นไม้ที่ถูกนำมาจากก้นบึ้งของขุมนรก ว่า طَلْعُهَا كَأَنَّهُ رُؤُوسُ الشَّيَاطِينِ

“ผลของมันคล้ายกับหัวของชัยฏอน” (ซูเราะฮ์อัศศ๊อฟฟ๊าต โองการที่62-65) ชาวอาหรับได้จินตนาการอันน่าเกลียดของชัยฏอนมารร้ายเอาไว้เป็นรูปเป็นร่าง และพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานก็ได้นำเสนอความเชื่ออันนี้ของพวกอาหรับ كَأَنَّهُ رُؤُوسُ الشَّيَاطِينِ  หมายถึงลักษณะอันน่าเกลียดน่ากลัวที่ชาวอาหรับได้จินตนาการเอาไว้ ตรงนี้เองที่พวกไม่เข้าใจทั้งหลายกล่าวว่า พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมของชาวอาหรับ แต่ทว่า คำตอบต่อข้อกล่าวหานี้คือ 

الشَّيَاطِينِ  كَأَنَّهُ رُؤُوسُ

ความหมายที่แท้จริงของ شَّيَاطِينِ  ตรงนี้คือ “งูชนิดหนึ่ง” ที่อาศัยอยู่ตามท้องทะเลทราย และชอบเลื้อยขึ้นไปอาศัยอยู่ตามต้นไม้ งูชนิดนี้มีหัวที่น่าเกลียดน่ากลัวเป็นอย่างมาก ซึ่งงูชนิดนี้ถูกเรียกว่า “งูชัยฏอน” ชาวอาหรับเมื่อได้เจองูชนิดนี้จะรู้สึกขลาดกลัวและขยะแขยงเป็นอย่างมาก พวกมันจะอยู่ตามต้นไม้ หัวของมันจะคล้ายกับผลของต้นไม้มาก อัลกุรอานจึงเปรียบผลของต้น “ซักกูม” คล้ายกับหัวของชัยฏอนมารร้าย ซึ่งน่าขยะแขยงเป็นที่สุดที่พระองค์ได้ทรงตระเตรียมเอาไว้ให้เหล่าผู้อธรรมในวันแห่งการตอบแทน ดังนั้นในโองการข้างต้นจึงเป็นแค่การเปรียบเทียบเท่านั้น ซึ่งภายนอกคืองูชนิดหนึ่ง แต่ภายในคือผลไม้ที่น่าขยะแขยงที่สุดของต้น “ซักกูม” 

ดังนั้นความหมายของชัยฏอนในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน คือการเปรียบเปรยกับสิ่งที่อยู่ภายนอกดังในโองการต่างๆ ที่หยิบยกมากล่าวเป็นตัวอย่าง มิได้หมายถึงชัยฏอนมารร้ายซึ่งเป็นสิ่งถูกสร้างหนึ่งของพระองค์เสมอไป 

ปัญหาคือบุคคลที่โง่เขลาเขาไม่มีความเข้าใจในเรื่องของภาษาอาหรับ เขาจึงเข้าใจความหมายพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานแบบผิดๆ  

การที่พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้นำเสนอแค่บางส่วนจากวัฒนธรรมของชาวอาหรับ นั่นหมายถึงว่าพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของอาหรับหรือ????

แล้วการประกอบพิธีฮัจญ์ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมของศาสดาอิบรอฮีม (อ.) และชาวอาหรับต่างหากที่รับเอาวัฒนธรรมนั้นมาจากศาสดาอิบรอฮีม (อ.) แล้วจะกล่าวได้อย่างไรว่า อัลกุรอานได้เอาวัฒนธรรมแห่งฮัจญ์มาจากวัฒนธรรมอาหรับ ในเมื่อการประกอบพิธีฮัจญ์ไม่ใช่วัฒนธรรมของอาหรับ???? 

การทำมาค้าขายก็มีอยู่ในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน แล้วจะบอกว่าพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของอาหรับอีกหรือ????

สมมุติว่า พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน ถูกประทานลงมาเป็นภาษาไทย และได้หยิบยกเรื่องราวของคนไทยไปเปรียบเปรยในพระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน นั่นหมายถึงพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมไทยหรือ?????

เมื่อพระองค์อัลลอฮ์ทรงตรัสว่า وَمَا أَرْسَلْنَا مِن رَّسُولٍ إِلاَّ بِلِسَانِ قَوْمِهِ لِيُبَيِّنَ لَهُمْ

“และเรามิได้ส่งร่อซูลคนใด นอกจากด้วยการพูดภาษาชนชาติของเขา เพื่อจะได้ชี้แจงอย่างชัดแจ้งแก่พวกเขา” (ซูเราะฮ์อิบรอฮีม โองการที่ 4) 

لِسَانِ หมายถึง “ภาษา” และการใช้ “ภาษา” ในการเปรียบเทียบ การพาดพึงถึง คำอุปมา สุภาษิตของภาษานั้นๆ ที่นำมาใช้ไม่ได้หมายความว่า เป็นการได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของชนที่ใช้ภาษานั้น แน่นอนหากพระมหาคัมภีร์อัลกุรอานถูกประทานลงมาเป็นภาษาไทย พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานก็จะใช้ภาษาในการเปรียบเทียบ การพาดพึงถึง คำอุปมา และสุภาษิตของภาษาไทยอย่างแน่นอน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พระมหาคัมภีร์อัลกุรอานได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมของชนชาวไทยแต่อย่างใด 

ดังนั้นเราไม่สามารถที่จะกล่าวได้ว่า “พระมหาคัมภีร์อัลกุรอาน คือสิ่งซึ่งได้สร้างวัฒนธรรมแห่งยุคสมัย ไม่ใช่สิ่งซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากวัฒนธรรมใดวัฒนธรรมหนึ่ง”

 

You may also read!

ความรู้ที่แท้จริง

รายงานจากท่านอิมามมูซากาซิมว่า เมื่อท่านศาสนทูตเดินเข้ามัสยิดเห็นคนกำลังนั่งล้อมชายคนหนึ่งอยู่ ท่านศาสนทูตถามพวกเขาว่า เกิดอะไรขึ้นหรือ พวกเขากล่าวตอบว่า ชายคนนี้คือ อัลลามะฮ์ ท่านศาสนทูตกล่าวถามว่า อัลลามะฮ์ คืออะไร ? บรรดาสาวกกล่าวตอบว่า เขาคือผู้รู้มากที่สุดในเรื่องเชื้อสายของชนชาวอาหรับ รู้ความเป็นมาของคนอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮ์อีกทั้งรู้เรื่องบทกวีของชาวอาหรับเป็นอย่างดีด้วย ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า เหล่านี้คือศาสตร์ที่ไม่ได้ทำให้ผู้ไม่รู้เสียประโยชน์แต่อย่างใด หลังจากนั้นท่านศาสดากล่าวต่อว่า แท้จริงความรู้มีสามสิ่งด้วยกัน รู้โองการที่ชัดแจ้ง

Read More...

 อิมามอาลีกับความสมถะ

ท่านศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวกับท่านอิมามอะลีว่า (more…)

Read More...

คนมีปมด้อย

อิมาม ซอดิก (อ) กล่าวว่า ما مِنْ رَجُل تَجَبَّرَ أَؤ تَکَبَّرَ إلاّ لِذِلَّه یَجِدُها قِی نَفْسِهِ “ไม่มีคนใดที่แสดงความโอ้อวดและแสดงตนเหนือผู้อื่น นอกเสียจากว่าเขาพบปมด้อยที่มีในตัวของเขาเอง คำอธิบาย  มีผลสำรวจและคำยืนยันจากนักจิตวิทยาว่า ต้นตอของการโอ้อวดและการยกตนเหนือกว่าผู้อื่นมาจากปมด้อย  เป็นปมด้อยที่ผู้ที่ประสพกับปัญหาทางจิตนี้ต้องทนทุกข์ทรมาน  เพื่อเป็นการชดเชยและปกปิดปมด้อยของตัวเองจึงแสดงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นซึ่งถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจยิ่ง 

Read More...

Leave a reply:

Your email address will not be published.

Mobile Sliding Menu