ซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และ มะดะนียะฮ์

In อัลกุรอาน

ตามสายรายงานเกี่ยวกับลำดับการประทานอัล กุรอาน บ่งชี้ว่า ซูเราะฮ์มักกียะฮ์มีจำนวน 86 ซูเราะฮ์ และซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ มีจำนวน 28 ซูเราะฮ์ ซึ่งบรรทัดฐานในการกำหนดว่าซูเราะฮ์ใดเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์และซูเราะฮ์ใดเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์มี 3 ทัศนะใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้ :

1 :  แบ่งตามช่วงเวลาของการประทานอัล กุรอาน : นักอรรถาธิบายอัล กุรอานบางท่านเชื่อว่า บรรทัดฐานในการแบ่งซูเราะฮ์เป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์นั้นคือ การอพยพของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จากมักกะฮ์ไปยังมะดีนะฮ์ ตามบรรทัดฐานดังกล่าว ทุก ๆ ซูเราะฮ์ที่ถูกประทานลงมาก่อนการอพยพ ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และทุก ๆ ซูเราะฮ์ที่ถูกประทานลงมาหลังจากการอพยพ ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ ไม่ว่าจะถูกประทานลงมาในเมืองมะดีนะฮ์ ในระหว่างการเดินทาง หรือแม้กระทั่งโองการที่ถูกประทานลงมาในเมืองมักกะฮ์ในระหว่างการเดินทางมาทำพิธีฮัจญ์หรือพิธีอุมเราะฮ์ หรือหลังจากการพิชิตมักกะฮ์ก็ตาม เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากการอพยพ จึงถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์  และส่วนโองการที่ถูกประทานมาในขณะที่ท่านศาสดากำลังอพยพซึ่งท่านอยู่ระหว่างทางมักกะฮ์และมะดีนะฮ์จะถูกรวมเข้าอยู่ในกลุ่มของโองการในซูเราะฮ์มักกียะฮ์ เช่น โองการที่ 85 ของซูเราะฮ์ กอศอศ ที่กล่าวว่า :

แท้จริง พระผู้ทรงประทานอัล กุรอานให้แก่เจ้า แน่นอน ย่อมทรงนำเจ้ากลับสู่ถิ่นเดิม

(ซูเราะฮ์กอศอศ โองการที่ 85)

2 : แบ่งตามสถานที่ของการประทานอัล กุรอาน : จากบรรทัดฐานนี้ทุกโองการที่ถูกประทานลงมาที่เมืองมักกะฮ์ ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และทุกโองการที่ถูกประทานลงมาที่เมืองมะดีนะฮ์ ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ ไม่ว่าจะถูกประทานลงมาก่อนหรือหลังจากการอพยพ ดังนั้นโองการที่ถูกประทานลงมาในสถานที่อื่นที่นอกเหนือจากทั้งสองนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์ ซึ่งท่านญะลาลุดดีน สุยูฏี บันทึกรายงานหนึ่งไว้ว่า : ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ดำรัสว่า “อัล กุรอานถูกประทานลงมาในสามสถานที่คือ มักกะฮ์ มะดีนะฮ์และเมืองชาม” (เป้าหมายของชามในที่นี้ คือ เมืองตะบูก )

3: แบ่งตามรูปประโยค : ทุก ๆ ซูเราะฮ์ที่รูปประโยคกล่าวกับพวกตั้งภาคี ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และทุก ๆ ซูเราะฮ์ที่รูปประโยคกล่าวกับผู้ศรัทธา ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ ท่านอับดุลลอฮ์ มัสอูด ได้ยกรายงานบทหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า : ทุก ๆซูเราะฮ์ที่มีประโยคที่กล่าวว่า  “ยาอัยยุฮันนาส” (โอ้มวลมนุษย์) ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และซูเราะฮ์ใดก็ตามที่มีประโยคที่กล่าวว่า  “ยาอัยยุอัลละซีนะ อามะนู” (โอ้มวลผู้ศรัทธา) ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ เพราะส่วนมากผู้ศรัทธาจะอยู่ในเมืองมะดีนะฮ์ และพวกตั้งภาคีจะอาศัยอยู่ในเมืองมักกะฮ์ แต่เนื่องจากในซูเราะฮ์ต่าง ๆที่เป็นมะดะนียะฮ์ เช่น ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ ซึ่งมีประโยค “ยาอัยยุฮันนาส”รวมอยู่ด้วยทำให้บรรทัดฐานนี้ไม่รัดกุม ทั้งนี้บรรทัดฐานในการกำหนดซูเราะฮ์มักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์มีอีกมากมาย ซึ่งไม่อาจนำแต่ละประเด็นมาเป็นบรรดทัดฐานที่ครอบคลุมและรัดกุมได้ แต่โดยรวมแล้วสามารถนำทั้งหมดมาเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดได้ในระดับหนึ่ง

ในหนังสืออัลอิตกอน ฟีอุลูมิลกุรอาน ของสุยูฏีกล่าวว่า นักอรรถาธิบายอัล กุรอาน และนักวิชาการด้านกุรอานเชื่อว่าบรรทัดฐานแรกเป็นบรรทัดฐานในการแบ่งซูเราะฮ์มะกียะฮ์และมะดะนียะฮ์ที่รัดกุมและน่าเชื่อถือที่สุด

จุดประสงค์ของการแบ่งซูเราะฮ์เป็นมักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์

การแบ่งซูเราะฮ์ของอัล กุรอานไปในรูปแบบที่กล่าวถึงข้างต้นมีจุดประสงค์เพื่อ :

1 – ทำความเข้าใจขั้นตอนการเผยแผ่ศาสนาของท่านศาสดา รวมทั้งรูปแบบการกำหนดกฏเกณฑ์ของศาสนาในอัล กุรอานเพื่อง่ายต่อการอรรถาธิบายอัล กุรอาน

2 – ในอัล กุรอานจะมีโองการหรือบางซูเราะฮ์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายโดยรวม และมีบางโองการและบางซูเราะฮ์มีเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม ซึ่งการแบ่งซูเราะฮ์เป็นมักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์ทำให้สามารถเข้าใจและแยกแยะเนื้อหาของอัล กุรอานได้โดยง่าย

3 –  ทำความเข้าใจถึงมิติต่าง ๆ ของความมหัศจรรย์ของอัล กุรอานได้อย่างลึกซึ้ง

คุณลักษณะพิเศษของซูเราะฮ์ มักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์

1- คุณลักษณะพิเศษของซูเราะฮ์มักกียะฮ์

1 – มีเนื้อหาที่กล่าวถึงเหลักการศรัทธาของศาสนาอิสลาม เช่น หลักศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า หลักศรัทธาต่อวันปรโลก หรือมีเนื้อหาที่เป็นการจำลองภาพบรรยากาศในวันแห่งการสอบสวนการกระทำของมนุษย์ หรือจำลองภาพของนรกและสวรรค์

2 – มีเนื้อหากระชับ และมีรูปแบบของคำที่มีสัมผัสทางภาษาที่สวยงาม

3 – มีเนื้อหาโจมตีและตอบโต้หลักความเชื่อของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา

4 – มีคำสาบานจำนวนมาก เช่น คำสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า  คำสาบานต่อวันปรโลก  คำสาบานต่ออัล กุรอาน ซึ่งโดยรวมแล้วในซูเราะฮ์มักกียะฮ์มีการสาบานอยู่ถึง 30 ครั้ง แต่ในขณะเดียวกันในซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์มีการสาบานเพียง 2 กรณีเท่านั้น เช่นในโองการที่ 7 ของซูเราะฮ์ตะฆอบุน ที่กล่าวว่า :

“ขอสาบานต่อพระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ พวกท่านจะถูกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน แล้วพวกท่านจะได้รับแจ้งตามที่พวกท่านได้ประกอบกรรมไว้”

5 – มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของบรรดาศาสดาและชนรุ่นก่อนรวมทั้งเรื่องราวของท่านศาสดาอาดัม

6 – ส่วนมากจะเริ่มต้นประโยคด้วยคำว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย”  แต่ก็มีบางโองการเช่นกันที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา” ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษของซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ เช่นโองการที่ 21 และ 168 ของซูเราะฮ์ บะเกาะเราะฮ์ และโองการแรกของ ซูเราะฮ์ นิซาอ์  แต่สำหรับโองการที่ 77 ของซูเราะฮ์ฮัจญ์ นักวิชาการส่วนมากเช่นอิบนิ ฮิซอร เชื่อว่าเป็นโองการที่อยู่ในซูเราะฮ์มักกียะฮ์ แต่เริ่มต้นด้วยคำว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา”

7 – มีสำนวนและการตำหนิติเตียนที่รุนแรง

8 – มีเนื้อหาที่เรียกร้องไปสู่คุณค่าทางจิตวิญญาณ ศีลธรรม  และการรักษาจริยธรรมอันดีงาม เช่นกล่าวถึงเรื่องความรัก  ความบริสุทธิ์ใจ  การให้เกียรติต่อผู้อื่น  การให้เกียรติกับเพื่อนบ้าน  การปฏิบัติดีต่อพ่อแม่  ฯลฯ

และซูเราะฮ์ที่เริ่มต้นด้วย  “ฮุรูฟมุก็อตตออะฮ์”  (หมายถึงซูเราะฮ์ที่เริ่มต้นด้วยอักษรย่อ เช่น กาฟ ฮา ยา อีน ซอด ) ทั้งหมดเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์ ยกเว้นซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์

 

2 – คุณลักษณะพิเศษของซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์

1 – มีเนื้อหายาวและมีรายละเอียดกว่าซูเราะฮ์มักกียะฮ์

2 – มีเนื้อหาที่โจมตีและตอบโต้หลักศรัทธาของชาวคัมภีร์ (ยะฮูดีย์ และนัศรอนีย์)

3 – ตำหนิการกระทำของบรรดามุนาฟิก (พวกหน้าไหว้หลังหลอก)

4 – มีเนื้อหาที่ปลุกระดมไปสู่การต่อสู้เพื่อปกป้องอุดมการณ์ของศาสนาอิสลาม

5 – อธิบายรายละเอียดของบทบัญญัติของศาสนา  สิทธิ์ต่าง ๆ  การแบ่งมรดก  รวมทั้งกฏเกณฑ์ทางสังคม  เศรษฐกิจ  การเมือง อีกทั้งหลักการและรูปแบบการทำสัญญาต่าง ๆ

6 – อธิบายหลักฐานและเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับหลักศรัทธาและบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม

โองการ “มุซตัซนาอาต” 

มีคำถามอยู่ว่า ในซูเราะฮ์ที่เรียกว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์นั้นมีโองการที่ประทานในมะดีนะฮ์ปะปนอยู่ด้วยหรือไม่ หรือซูเราะฮ์ที่ถือว่าเป็นซูเราะฮ์ มะดะนียะฮ์ มีโองการที่ประทานในมักกะฮ์ปะปนอยู่ด้วยหรือไม่ นักวิชาการส่วนมากเช่น สุยูฏี กล่าวว่า มีโองการประเภทดังกล่าวปะปนอยู่ด้วย โดยโองการเหล่านี้เรียกว่า “อายาตมุซตัซนาอาต” ยกตัวอย่างเช่น ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ ในการแบ่งประเภทซูเราะฮ์ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ แต่มี 2 โองการที่ถูกประทานในมะดีนะฮ์อยู่ในซูเราะฮ์นี้ด้วย คือ โองการที่ 109 และ โองการที่ 272

ท่านผู้อ่านที่รักทั้งหลาย เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นข้อมูลเกี่ยวกับซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ซึ่งถือว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ที่จะต้องการจะค้นคว้าและใคร่ครวญในอัล กุรอาน

You may also read!

ความรู้ที่แท้จริง

รายงานจากท่านอิมามมูซากาซิมว่า เมื่อท่านศาสนทูตเดินเข้ามัสยิดเห็นคนกำลังนั่งล้อมชายคนหนึ่งอยู่ ท่านศาสนทูตถามพวกเขาว่า เกิดอะไรขึ้นหรือ พวกเขากล่าวตอบว่า ชายคนนี้คือ อัลลามะฮ์ ท่านศาสนทูตกล่าวถามว่า อัลลามะฮ์ คืออะไร ? บรรดาสาวกกล่าวตอบว่า เขาคือผู้รู้มากที่สุดในเรื่องเชื้อสายของชนชาวอาหรับ รู้ความเป็นมาของคนอาหรับในสมัยญาฮิลียะฮ์อีกทั้งรู้เรื่องบทกวีของชาวอาหรับเป็นอย่างดีด้วย ท่านศาสดามุฮัมมัดกล่าวว่า เหล่านี้คือศาสตร์ที่ไม่ได้ทำให้ผู้ไม่รู้เสียประโยชน์แต่อย่างใด หลังจากนั้นท่านศาสดากล่าวต่อว่า แท้จริงความรู้มีสามสิ่งด้วยกัน รู้โองการที่ชัดแจ้ง

Read More...

 อิมามอาลีกับความสมถะ

ท่านศาสดามุฮัมมัดได้กล่าวกับท่านอิมามอะลีว่า (more…)

Read More...

คนมีปมด้อย

อิมาม ซอดิก (อ) กล่าวว่า ما مِنْ رَجُل تَجَبَّرَ أَؤ تَکَبَّرَ إلاّ لِذِلَّه یَجِدُها قِی نَفْسِهِ “ไม่มีคนใดที่แสดงความโอ้อวดและแสดงตนเหนือผู้อื่น นอกเสียจากว่าเขาพบปมด้อยที่มีในตัวของเขาเอง คำอธิบาย  มีผลสำรวจและคำยืนยันจากนักจิตวิทยาว่า ต้นตอของการโอ้อวดและการยกตนเหนือกว่าผู้อื่นมาจากปมด้อย  เป็นปมด้อยที่ผู้ที่ประสพกับปัญหาทางจิตนี้ต้องทนทุกข์ทรมาน  เพื่อเป็นการชดเชยและปกปิดปมด้อยของตัวเองจึงแสดงตนว่าเหนือกว่าผู้อื่นซึ่งถือเป็นการกระทำที่น่ารังเกียจยิ่ง 

Read More...

Leave a reply:

Your email address will not be published.

Mobile Sliding Menu