ตามสายรายงานเกี่ยวกับลำดับการประทานอัล กุรอาน บ่งชี้ว่า ซูเราะฮ์มักกียะฮ์มีจำนวน 86 ซูเราะฮ์ และซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ มีจำนวน 28 ซูเราะฮ์ ซึ่งบรรทัดฐานในการกำหนดว่าซูเราะฮ์ใดเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์และซูเราะฮ์ใดเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์มี 3 ทัศนะใหญ่ ๆ ดังต่อไปนี้ :
1 : แบ่งตามช่วงเวลาของการประทานอัล กุรอาน : นักอรรถาธิบายอัล กุรอานบางท่านเชื่อว่า บรรทัดฐานในการแบ่งซูเราะฮ์เป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์นั้นคือ การอพยพของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) จากมักกะฮ์ไปยังมะดีนะฮ์ ตามบรรทัดฐานดังกล่าว ทุก ๆ ซูเราะฮ์ที่ถูกประทานลงมาก่อนการอพยพ ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และทุก ๆ ซูเราะฮ์ที่ถูกประทานลงมาหลังจากการอพยพ ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ ไม่ว่าจะถูกประทานลงมาในเมืองมะดีนะฮ์ ในระหว่างการเดินทาง หรือแม้กระทั่งโองการที่ถูกประทานลงมาในเมืองมักกะฮ์ในระหว่างการเดินทางมาทำพิธีฮัจญ์หรือพิธีอุมเราะฮ์ หรือหลังจากการพิชิตมักกะฮ์ก็ตาม เพราะเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นหลังจากการอพยพ จึงถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ และส่วนโองการที่ถูกประทานมาในขณะที่ท่านศาสดากำลังอพยพซึ่งท่านอยู่ระหว่างทางมักกะฮ์และมะดีนะฮ์จะถูกรวมเข้าอยู่ในกลุ่มของโองการในซูเราะฮ์มักกียะฮ์ เช่น โองการที่ 85 ของซูเราะฮ์ กอศอศ ที่กล่าวว่า :
แท้จริง พระผู้ทรงประทานอัล กุรอานให้แก่เจ้า แน่นอน ย่อมทรงนำเจ้ากลับสู่ถิ่นเดิม
(ซูเราะฮ์กอศอศ โองการที่ 85)
2 : แบ่งตามสถานที่ของการประทานอัล กุรอาน : จากบรรทัดฐานนี้ทุกโองการที่ถูกประทานลงมาที่เมืองมักกะฮ์ ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และทุกโองการที่ถูกประทานลงมาที่เมืองมะดีนะฮ์ ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ ไม่ว่าจะถูกประทานลงมาก่อนหรือหลังจากการอพยพ ดังนั้นโองการที่ถูกประทานลงมาในสถานที่อื่นที่นอกเหนือจากทั้งสองนี้ ก็ไม่ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์ ซึ่งท่านญะลาลุดดีน สุยูฏี บันทึกรายงานหนึ่งไว้ว่า : ท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ดำรัสว่า “อัล กุรอานถูกประทานลงมาในสามสถานที่คือ มักกะฮ์ มะดีนะฮ์และเมืองชาม” (เป้าหมายของชามในที่นี้ คือ เมืองตะบูก )
3: แบ่งตามรูปประโยค : ทุก ๆ ซูเราะฮ์ที่รูปประโยคกล่าวกับพวกตั้งภาคี ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และทุก ๆ ซูเราะฮ์ที่รูปประโยคกล่าวกับผู้ศรัทธา ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ ท่านอับดุลลอฮ์ มัสอูด ได้ยกรายงานบทหนึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า : ทุก ๆซูเราะฮ์ที่มีประโยคที่กล่าวว่า “ยาอัยยุฮันนาส” (โอ้มวลมนุษย์) ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และซูเราะฮ์ใดก็ตามที่มีประโยคที่กล่าวว่า “ยาอัยยุอัลละซีนะ อามะนู” (โอ้มวลผู้ศรัทธา) ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ เพราะส่วนมากผู้ศรัทธาจะอยู่ในเมืองมะดีนะฮ์ และพวกตั้งภาคีจะอาศัยอยู่ในเมืองมักกะฮ์ แต่เนื่องจากในซูเราะฮ์ต่าง ๆที่เป็นมะดะนียะฮ์ เช่น ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ ซึ่งมีประโยค “ยาอัยยุฮันนาส”รวมอยู่ด้วยทำให้บรรทัดฐานนี้ไม่รัดกุม ทั้งนี้บรรทัดฐานในการกำหนดซูเราะฮ์มักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์มีอีกมากมาย ซึ่งไม่อาจนำแต่ละประเด็นมาเป็นบรรดทัดฐานที่ครอบคลุมและรัดกุมได้ แต่โดยรวมแล้วสามารถนำทั้งหมดมาเป็นบรรทัดฐานในการกำหนดได้ในระดับหนึ่ง
ในหนังสืออัลอิตกอน ฟีอุลูมิลกุรอาน ของสุยูฏีกล่าวว่า นักอรรถาธิบายอัล กุรอาน และนักวิชาการด้านกุรอานเชื่อว่าบรรทัดฐานแรกเป็นบรรทัดฐานในการแบ่งซูเราะฮ์มะกียะฮ์และมะดะนียะฮ์ที่รัดกุมและน่าเชื่อถือที่สุด
จุดประสงค์ของการแบ่งซูเราะฮ์เป็นมักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์
การแบ่งซูเราะฮ์ของอัล กุรอานไปในรูปแบบที่กล่าวถึงข้างต้นมีจุดประสงค์เพื่อ :
1 – ทำความเข้าใจขั้นตอนการเผยแผ่ศาสนาของท่านศาสดา รวมทั้งรูปแบบการกำหนดกฏเกณฑ์ของศาสนาในอัล กุรอานเพื่อง่ายต่อการอรรถาธิบายอัล กุรอาน
2 – ในอัล กุรอานจะมีโองการหรือบางซูเราะฮ์ที่มีเนื้อหาครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายโดยรวม และมีบางโองการและบางซูเราะฮ์มีเนื้อหาเฉพาะกลุ่ม ซึ่งการแบ่งซูเราะฮ์เป็นมักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์ทำให้สามารถเข้าใจและแยกแยะเนื้อหาของอัล กุรอานได้โดยง่าย
3 – ทำความเข้าใจถึงมิติต่าง ๆ ของความมหัศจรรย์ของอัล กุรอานได้อย่างลึกซึ้ง
คุณลักษณะพิเศษของซูเราะฮ์ มักกียะฮ์และมะดะนียะฮ์
1- คุณลักษณะพิเศษของซูเราะฮ์มักกียะฮ์
1 – มีเนื้อหาที่กล่าวถึงเหลักการศรัทธาของศาสนาอิสลาม เช่น หลักศรัทธาต่อพระผู้เป็นเจ้า หลักศรัทธาต่อวันปรโลก หรือมีเนื้อหาที่เป็นการจำลองภาพบรรยากาศในวันแห่งการสอบสวนการกระทำของมนุษย์ หรือจำลองภาพของนรกและสวรรค์
2 – มีเนื้อหากระชับ และมีรูปแบบของคำที่มีสัมผัสทางภาษาที่สวยงาม
3 – มีเนื้อหาโจมตีและตอบโต้หลักความเชื่อของบรรดาผู้ปฏิเสธศรัทธา
4 – มีคำสาบานจำนวนมาก เช่น คำสาบานต่อพระผู้เป็นเจ้า คำสาบานต่อวันปรโลก คำสาบานต่ออัล กุรอาน ซึ่งโดยรวมแล้วในซูเราะฮ์มักกียะฮ์มีการสาบานอยู่ถึง 30 ครั้ง แต่ในขณะเดียวกันในซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์มีการสาบานเพียง 2 กรณีเท่านั้น เช่นในโองการที่ 7 ของซูเราะฮ์ตะฆอบุน ที่กล่าวว่า :
“ขอสาบานต่อพระผู้อภิบาลของข้าพระองค์ พวกท่านจะถูกให้ฟื้นคืนชีพขึ้นมาอีกอย่างแน่นอน แล้วพวกท่านจะได้รับแจ้งตามที่พวกท่านได้ประกอบกรรมไว้”
5 – มีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องราวของบรรดาศาสดาและชนรุ่นก่อนรวมทั้งเรื่องราวของท่านศาสดาอาดัม
6 – ส่วนมากจะเริ่มต้นประโยคด้วยคำว่า “โอ้มนุษย์ทั้งหลาย” แต่ก็มีบางโองการเช่นกันที่เริ่มต้นด้วยคำว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา” ซึ่งเป็นคุณลักษณะพิเศษของซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ เช่นโองการที่ 21 และ 168 ของซูเราะฮ์ บะเกาะเราะฮ์ และโองการแรกของ ซูเราะฮ์ นิซาอ์ แต่สำหรับโองการที่ 77 ของซูเราะฮ์ฮัจญ์ นักวิชาการส่วนมากเช่นอิบนิ ฮิซอร เชื่อว่าเป็นโองการที่อยู่ในซูเราะฮ์มักกียะฮ์ แต่เริ่มต้นด้วยคำว่า “โอ้บรรดาผู้ศรัทธา”
7 – มีสำนวนและการตำหนิติเตียนที่รุนแรง
8 – มีเนื้อหาที่เรียกร้องไปสู่คุณค่าทางจิตวิญญาณ ศีลธรรม และการรักษาจริยธรรมอันดีงาม เช่นกล่าวถึงเรื่องความรัก ความบริสุทธิ์ใจ การให้เกียรติต่อผู้อื่น การให้เกียรติกับเพื่อนบ้าน การปฏิบัติดีต่อพ่อแม่ ฯลฯ
และซูเราะฮ์ที่เริ่มต้นด้วย “ฮุรูฟมุก็อตตออะฮ์” (หมายถึงซูเราะฮ์ที่เริ่มต้นด้วยอักษรย่อ เช่น กาฟ ฮา ยา อีน ซอด ) ทั้งหมดเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์ ยกเว้นซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์
2 – คุณลักษณะพิเศษของซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์
1 – มีเนื้อหายาวและมีรายละเอียดกว่าซูเราะฮ์มักกียะฮ์
2 – มีเนื้อหาที่โจมตีและตอบโต้หลักศรัทธาของชาวคัมภีร์ (ยะฮูดีย์ และนัศรอนีย์)
3 – ตำหนิการกระทำของบรรดามุนาฟิก (พวกหน้าไหว้หลังหลอก)
4 – มีเนื้อหาที่ปลุกระดมไปสู่การต่อสู้เพื่อปกป้องอุดมการณ์ของศาสนาอิสลาม
5 – อธิบายรายละเอียดของบทบัญญัติของศาสนา สิทธิ์ต่าง ๆ การแบ่งมรดก รวมทั้งกฏเกณฑ์ทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อีกทั้งหลักการและรูปแบบการทำสัญญาต่าง ๆ
6 – อธิบายหลักฐานและเหตุผลที่เกี่ยวข้องกับหลักศรัทธาและบทบัญญัติของศาสนาอิสลาม
โองการ “มุซตัซนาอาต”
มีคำถามอยู่ว่า ในซูเราะฮ์ที่เรียกว่าเป็นซูเราะฮ์มักกียะฮ์นั้นมีโองการที่ประทานในมะดีนะฮ์ปะปนอยู่ด้วยหรือไม่ หรือซูเราะฮ์ที่ถือว่าเป็นซูเราะฮ์ มะดะนียะฮ์ มีโองการที่ประทานในมักกะฮ์ปะปนอยู่ด้วยหรือไม่ นักวิชาการส่วนมากเช่น สุยูฏี กล่าวว่า มีโองการประเภทดังกล่าวปะปนอยู่ด้วย โดยโองการเหล่านี้เรียกว่า “อายาตมุซตัซนาอาต” ยกตัวอย่างเช่น ซูเราะฮ์บะเกาะเราะฮ์ ในการแบ่งประเภทซูเราะฮ์ถือว่าเป็นซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ แต่มี 2 โองการที่ถูกประทานในมะดีนะฮ์อยู่ในซูเราะฮ์นี้ด้วย คือ โองการที่ 109 และ โองการที่ 272
ท่านผู้อ่านที่รักทั้งหลาย เรื่องราวที่กล่าวมาทั้งหมด เป็นข้อมูลเกี่ยวกับซูเราะฮ์มักกียะฮ์ และซูเราะฮ์มะดะนียะฮ์ซึ่งถือว่ามีประโยชน์สำหรับผู้ที่จะต้องการจะค้นคว้าและใคร่ครวญในอัล กุรอาน