นักปราชญ์ท่านหนึ่งมีชื่อว่า ซิรอญุดดีน อัส สะกอกีย์ (Seraj al-Din Sakaki) เป็นหนึ่งในนักวิชาการศาสนาอิสลามและเป็นปราชญ์ด้านภาษาอาหรับ ท่านสะกอกีย์ อาศัยอยู่ในยุคการปกครองของ Khwarazm Shahs ของประเทศอิหร่าน
เดิมสะกอกีย์ เป็นช่างตีเหล็ก อยู่มาวันหนึ่ง เขาทำหีบเหล็กขนาดเล็กและละเอียดอ่อนมากอันหนึ่งขึ้นมา ซึ่งการจะทำสิ่งนี้ได้ต้องใช้ความอุตสาหะอย่างมากในการสร้าง เมื่อทำเสร็จนำมันไปเป็นของขวัญมอบให้สุลต่านในเวลานั้น สุลต่านและคนรอบข้างมองดูงานของเขาอย่างระมัดระวังและยกย่องในฝีมือและความอุตสาหะของเขา
ในขณะที่เขากำลังฟังคำชื่นชมอยู่นั้น มีชายคนหนึ่งเดินเข้ามา ทุกคนก้มหัวทำความเคารพอย่างนอบน้อม ทุกคนต่างให้เกียรติและให้ความสำคัญกับชายคนนั้น จนทำให้สะกอกีย์รู้สึกประทับใจและกล่าวถามคนรอบข้างว่า: เขาคือใครกัน ? พวกเขากล่าวตอบว่า เขาเป็นนักปราชญ์ผู้ทรงความรู้เป็นอย่างมาก
ผู้คนให้ความสนใจกับผู้รู้ที่เดินเข้ามาและหันหลังให้กับงานศิลป์ของเขา สะกอกีย์รู้สึกเสียใจ จึงตัดสินใจว่าจะไปเรียนเพื่อเป็นนักปราชญ์ให้ได้ ซึ่งขณะนั้นเขาอายุ 30 ปีแล้ว เขาเดินทางไปโรงเรียนแห่งหนึ่ง เข้าไปโรงเรียนและพูดกับครูว่า : ฉันต้องการเรียนรู้วิทยาการทั้งหมดของโรงเรียนนี้ ครูพูดว่า : อายุเท่านี้ ฉันไม่คิดว่าคุณจะสามารถทำสำเร็จได้ตามที่ตั้งใจได้
ด้วยความมุ่งมั่นที่จะอยากจะเรียนครูอนุญาติให้เขาเข้าเรียน สะกอกีย์ตั้งใจเรียนมาก แต่ความจำและพรสวรรค์ของเขาในเรื่องเรียนแย่มากจนวันหนึ่งครูบอกเขาว่า : เจ้าจงหลักนิติศาสตร์อิสลามนี้ไว้ หลักที่กล่าวว่า ((หนังของสุนัขจะถูกทำให้สะอาดได้โดยการฟอกหนัง)) เขาอ่านมันหลายครั้งและท่องจำหลังดังกล่าวอย่างแข็งขัน แต่ในวันรุ่งขึ้นเขากลับพูดสิ่งนี้ต่อหน้าอาจารย์ และเพื่อนนักเรียนว่า : (สุนัข กล่าวว่า: ผิวหนังครูจะถูกทำให้บริสุทธิ์ได้ด้วยการฟอกหนัง!)) ครูและนักเรียนต่างก็หัวเราะเยาะเย้ยเขา
สะกอกีย์ ตั้งใจเรียนเป็นเวลาสิบปีแต่ก็ไม่ได้ให้ผลลัพธ์ใด ๆ จนเขารู้สึกเบื่อและท้อแท้ จึงเดินทางมุ่งหน้าปลีกวิเวกเขาเดินไปท่ามกลางภูเขาและทะเลทรายเพื่อกลับบ้านของตัวเอง เขาเดินในท้องทะเลทรายจนเหนื่อย เข้าพักในถ้ำแห่งหนึ่งในถ้ำมีน้ำหยุดจากเพดานถ้ำลงสู่หินเบื้องล่าง เขา เห็นน้ำหยดจากเพดานถ้ำลงสู่ก้อนหินด้านล่าง จนหินด้านล่างเป็นรู
เขามองและครุ่นคิดอยู่ครู่หนึ่ง แล้วพูดกับตัวเองว่า : ใจของข้าไม่ได้แข็งไปกว่าหินก้อนนี้ ถ้าอดทนกว่านี้คงจะประสบความสำเร็จในที่สุดอย่างแน่นอน หลังจากพูดเช่นนี้เขาก็กลับไปโรงเรียนและเขาตั้งใจศึกษาอย่างจริงจังและอดทนเป็นเวลาถึง 40 ปีจนกระทั่งมาถึงจุดที่นักวิชาการในยุคของเขายกย่องให้เขาเป็นนักปราชญ์แห่งศาสตร์ด้านภาษาอาหรับและเป็นผู้ทรงคุณวุฒิด้านเทคนิคภาษาอาหรับและวรรณกรรมอาหรับ
เขาเขียนหนังสือชื่อ Miftah al-Uloom ซึ่งเป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสตร์ภาษาอาหรับมี 12 เล่มด้วยกับ ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นเอกทางภาษาศาสตร์และวรรณกรรมที่ยิ่งใหญ่เล่มหนึ่งของโลกจนถึงปัจจุบัน
เรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ความอดทนและพยายามเท่านั้นที่นำมนุษย์สู่ความสำเร็จ