อิลมุล กิรออะฮ์ เป็นศาสตร์ที่กล่าวถึงเรื่อง กฏเกณฑ์ในการอ่านออกเสียง การหยุด การเริ่มต้น การอ่านควบตัวอักษร รวมทั้งกล่าวถึงการอ่านคำในกุรอานในรูปแบบต่าง ๆ ด้วย
ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ถือเป็นครูสอนกุรอานคนแรกของโลกอิสลามบรรดาซอฮาบะฮ์บางท่านเช่น ท่านอิมามอะลี (อ.) ท่านอุศมาน บิน อัฟฟาน ท่านอับดุลลอฮ์ บิน มัสอูด ได้เรียนรู้กุรอานโดยตรงจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) บรรดาสาวกที่เรียนรู้กุรอานแล้วก็มีหน้าที่สอนกุรอานให้กับสาวกคนอื่น ๆ ด้วย อีกทั้งบรรดาชนรุ่นหลังที่ไม่ได้อยู่ในช่วงสมัยของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ก็เรียนกุรอานกับบรรดาซอฮาบะฮ์
ในช่วงเวลาการถ่ายทอดวิชาความรู้จากรุ่นหนึ่งสู่อีกรุ่นหนึ่งนี้เองได้กำเนิดกลุ่มผู้เชี่ยวชาญการอ่านกุรอานขึ้น และเป็นช่วงเวลาที่บรรดามุสลิมมีจำนวนมากขึ้น ต่างคนต่างต้องการที่จะเรียนรู้กุรอาน ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้จึงเป็นที่ต้องการของเหล่าผู้หลงใหลในกุรอาน
ตามที่กล่าวไว้ข้างต้นกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้รับการถ่ายทอดศาสตร์การอ่านกุรอานและได้รายงานการอ่านที่ถูกต้องจากบรรดาซอฮาบะฮ์ อีกทั้งแต่ละคนก็มีลูกศิษย์ที่แตกแขนงออกไปมากมาย จากตรงนี้จะเห็นได้ว่าศาสตร์การอ่านกุรอานถูกถ่ายทอดมาจากแหล่งเดียวคือจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) โดยผ่านบรรดาซอฮาบะฮ์ และตาบิอีน แต่เราจะเห็นการอ่านที่หลากหลายและแตกต่างกัน มีคำถามว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?
มีคนตั้งสมมุติฐานว่าอาจเป็นเพราะว่าท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) เองอนุญาตให้สามารถอ่านคำบางคำในกุรอานได้หลากหลายรูปแบบ หรือจะกล่าวได้อีกนัยหนึ่งว่าอัลลอฮ์ (ซ.บ.)ทรงประทานกุรอานโดยอนุญาตให้ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) อ่านคำบางคำได้หลายรูปแบบตั้งแต่แรกแล้ว แต่บางคนก็เชื่อว่าความแตกต่างที่เกิดขึ้นเกิดจากการรายงานฮะดิษเกี่ยวกับการอ่านของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ที่แตกต่างกันของนักรายงานฮะดีษ แต่อย่างไรก็ตามสิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนที่สุดก็คือมุสลิมทุกคนพยายามอย่างที่สุดที่จะให้การอ่านของตนเองใกล้เคียงกับการอ่านของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) มากที่สุด ด้วยเหตุนี้เองบางคนต้องเดินทางด้วยความลำบากเพื่อเสาะหาผู้เชี่ยวชาญที่ศึกษาศาสตร์การอ่านจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) โดยตรง
ในช่วงแรกนักอ่านและผู้เชี่ยวชาญด้านการอ่านจะถ่ายทอดวิธีการอ่านแบบตัวต่อตัว แต่ต่อมาภายหลังได้มีการเขียนกฏเกณฑ์ทั้งหมดเป็นตำราโดยเชื่อกันว่าตำราเล่มแรกที่เขียนเกี่ยวกับกฏเกณฑ์ต่าง ๆ นี้คือหนังสือของ ฮัมซะฮ์ บิน ฮะบีบ ซึ่งถือเป็นหนึ่งในกุรรอ ซับอะฮ์ ด้วย
ในหมู่ซอฮาบะฮ์และตาบิอีนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงศตวรรษที่ 1 และ 2 มีจำนวน 10 คนที่ได้รับการยกย่องให้เป็นผุ้เชี่ยวชาญในศาสตร์ด้านการอ่านกุรอาน ซึ่งในจำนวน 10 คนดังกล่าวนั้นมีอยู่ 7 ท่านด้วยกันที่มีชื่อเสียงมากทีสุดซึ่งต่อมาภายหลัง 7 ท่านนี้เองได้รับฉายานามว่า กุรรออ์ ซับอะฮ์ (นักอ่านทั้ง 7)