ตามที่บรรดามุสลิมเราทราบกันดีอยู่แล้วก็คือท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) เป็นผู้ที่ไม่รู้หนังสือ คืออ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ ไม่มีบันทึกในประวัติศาสตร์เลยว่าท่านเขียนหรือท่านอ่านสิ่งใด ด้วยเหตุนี้เองในหมู่ชาวอาหรับ ท่านจึงได้รับฉายาว่า อุมมี (ผู้ไม่รู้หนังสือ) อัล กุรอานเองก็กล่าวถึงท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) ในลักษณะนี้เช่นเดียวกันโดยกล่าวไว้ในซูเราะฮ์อะอ์รอฟในโองการที่ 157 – 158 ว่า
فَآمِنُوا بِاللَّهِ وَرَسُولِهِ النَّبِيِّ الأمِّيِّ
“พวกเจ้าจงศรัทธาต่ออัลลอฮ์ (ซบ.)และศาสนทูตผู้ไม่รู้หนังสือ”
คำว่า อุม ในทางภาษามีความหมายว่า “แม่” แต่ในทางวิชาการให้ความหมายว่า คนที่ไม่มีความรู้เรื่องการอ่านและการเขียนตั้งแต่คลอดออกมาจากท้องมารดานั่นเอง และการไม่รู้หนังสือของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) นี่เองคือมิติหนึ่งของความมหัศจรรย์ของอัล กุรอาน แต่สิ่งที่เป็นการแสดงถึงความมหัศจรรย์ของอัล กุรอานคือการไม่เขียนและการไม่อ่านของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ไม่ใช่การที่ท่านศาสดาไม่สามารถอ่านได้หรือไม่สามารถเขียนได้ อัล กุรอานกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า :
“เจ้าไม่เคยได้อ่านคัมภีร์เล่มใดและไม่เคยเขียนสิ่งใดมาก่อนหน้านี้เลยเพราะไม่เช่นนั้นแล้วพวกที่คิดร้ายจะต้องสงสัย(ในสิ่งที่เจ้านำมาแน่)….” (ซูเราะฮ์อัตเตาบะฮ์ โองการที่ 48)
ในโองการนี้เป็นหลักฐานแสดงให้เห็นว่าท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ไม่เคยอ่านและไม่เคยเขียนสิ่งใดมาก่อน แต่ไม่ได้ชี้ให้เห็นว่าท่านไม่มีความสามารถในการเขียนหรืออ่าน เพราะเพียงแค่การพิสูจน์ว่าท่านไม่อ่านและไม่เขียนก็สามารถที่จะตอบข้อสงสัยของพวกที่คิดร้ายได้แล้ว เนื่องจากบุคคลเหล่านั้นก็ไม่เคยคิดว่าท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) เป็นคนมีความรู้อยู่แล้ว
ท่านอัลลามะฮ์ ฏอบาฏอบาอีย์ กล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า : โองการข้างต้นปฏิเสธการอ่านและการเขียนของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) แต่ไม่ได้หมายความว่าท่านไม่มีความสามารถที่จะอ่านและเขียนได้
นอกเหนือไปจากนั้นการมีความสามารถในการอ่านและเขียนถือเป็นความโดดเด่นและเป็นความสมบูรณ์แบบอย่างหนึ่ง และการไม่มีความรู้ในเรื่องดังกล่าวก็ถือเป็นความบกพร่อง และแน่นอนอัลลอฮ์ (ซบ.)ทรงมีความประสงค์ให้ศาสนทูตของพระองค์มีความสมบูรณ์แบบและมีความโดดเด่นในทุก ๆ ด้าน แต่ต้องเข้าใจประเด็นนี้ด้วยว่าการอ่านออกเขียนได้ของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ไม่ใช่ได้มาจากการที่ท่านไปเรียนหรือไปศึกษากับอาจารย์คนใดคนหนึ่ง แต่เป็นสิ่งที่อัลลอฮ์ (ซบ.)ทรงมอบให้มาพร้อมตำแหน่งศาสนทูตต่างหาก ดังนั้นการที่ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) แสดงให้เห็นว่าท่านเป็นคนไม่มีความสามารถที่จะอ่านออกหรือเขียนได้ก็เพื่อเป็นการตอบข้อสงสัยของผู้ที่คิดร้ายเท่านั้น ด้วยเหตุนี้เองในประวัติศาสตร์ไม่เคยถูกบันทึกไว้สักครั้งเดียวว่าท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ได้เขียนหรือจดบันทึกสิ่งใด รวมทั้งการจดบันทึกวะฮ์ยูที่ถูกประทานลงมาด้วย
ด้วยเหตุนี้เองท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) จึงเลือกบุคคลจำนวนหนึ่งที่มีความรู้ด้านการอ่านและการเขียนมาเป็นผู้จดบันทึก อัล กุรอาน ที่ถูกประทานจากพระผู้เป็นเจ้าผ่านทางศาสนทูตของพระองค์ และบุคคลแรกในเมืองมักกะฮ์ที่ถูกเลือกสรรให้รับหน้าที่จดบันทึก อัล กุรอานก็คือ ท่าน อะลี บิน อะบีฏอลิบ และท่านอะลีเองก็รับหน้าที่ดังกล่าวนี้จนกระทั่งท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) สิ้นชีวิตไป
ซะลีม บิน เกซ ฮิลาลีย์ ได้รายงานว่า : ครั้งหนึ่งฉันนั่งอยู่กับอะลีในมัสยิดกูฟะฮ์ มีคนเข้ามาห้อมล้อมอะลีเป็นจำนวนมาก อะลีกล่าวกับคนเหล่านั้นว่า ตราบเท่าที่ฉันยังมีชีวิตอยู่พวกท่านก็จงถามฉันเถิดเกี่ยวกับคัมภีร์ของอัลลอฮ์ (ซบ.) ขอสาบานต่ออัลลอฮ์ (ซบ.)ว่าไม่มีโองการใดที่ถูกประทานลงมาเลยนอกเสียจากว่าท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) จะอ่านโองการนั้นให้ฉันฟังพร้อมทั้งอรรถาธิบายความหมายของโองการนั้นให้ฉันฟังด้วย อับดุลลอฮ์ บิน อัมร์ ยัชการีย์ กล่าวถามกับท่านอะลีว่า แล้วโองการที่ถูกประทานลงมาให้ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ในขณะที่ท่านไม่ได้อยู่ด้วยละโองการเหล่านี้เป็นอย่างไร ? ท่านอะลีกล่าวตอบว่า ทุกครั้งที่ฉันได้เข้าพบท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ก็จะกล่าวกับฉันว่ามีโองการถูกประทานลงมาให้ฉันในขณะที่เจ้าไม่อยู่ด้วย แล้วท่านก็จะอ่านโองการพร้อมทั้งอธิบายความหมายให้ฉันฟังด้วย”
ส่วนชาวมะดีนะฮ์คนแรกที่ถูกเลือกให้รับหน้าที่จดบันทึก อัล กุรอาน คือ อุบัย บิน กะอบ์ อันศอรีย์ เนื่องจากในสมัยญาฮิลียะฮ์ ท่านเป็นคนหนึ่งที่มีความรู้เรื่องการอ่านและการเขียน มุฮัมมัด บิน ซะอด์ กล่าวว่า : ในหมู่ชาวอาหรับสมัยญาฮิลียะฮ์ที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องการศึกษา มีน้อยคนนักที่จะรู้หนังสือซึ่งอุบัย บิน กะอบ์ เป็นคนหนึ่งที่มีความรู้
อิบนุ อับดุล บิร กล่าวว่า : อุบัย บิน กะอบ์ เป็นชาวมะดีนะฮ์คนแรกที่ถูกเลือกให้เป็นผู้จดบันทึก อัล กุรอาน อีกทั้งเป็นคนแรกที่ถูกแต่งตั้งให้เป็นอาลักษณ์คอยเขียนจดหมายให้ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ท่านอุบัย บิน กะอบ์ถือเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ฟังอัล กุรอานจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ทั้งหมด ด้วยเหตุนี้เองในสมัยของท่านอุษมานที่ต้องการให้มีการรวบรวมอัล กุรอานขึ้นใหม่ ท่านอุบัยจึงได้รับหน้าที่สำคัญดังกล่าวนี้ โดยที่ทุกครั้งที่เกิดปัญหาขึ้น ท่านอุบัยสามารถไขข้อข้องใจเกี่ยวกับอัล กุรอานได้ทั้งหมด
ท่าน เซด บิน ซาบิต เป็นชาวมะดีนะฮ์อีกคนหนึ่งที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้จดบันทึก อัล กุรอาน ท่านเซด มีบ้านอยู่ข้างบ้านของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) และเป็นอีกคนหนึ่งที่มีความรู้ด้านการเขียน ในช่วงแรก ๆ ทุกครั้งที่ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) มีความจำเป็นที่จะต้องเขียนบางสิ่งบางอย่างและท่านอุบัย บิน กะอบ์ก็ไม่ได้อยู่ด้วย ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ก็จะเรียกใช้ท่านเซด ซึ่งเวลาต่อมาได้รับเลือกให้เป็นอาลักษณ์ของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) อย่างเป็นทางการจนกระทั่งว่าท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) มีคำสั่งให้ท่านเซดไปเรียนภาษาฮิบรูเพื่อที่จะได้เขียนและแปลจดหมายเป็นภาษาฮิบรูให้แก่ท่าน ท่านเซดเป็นสาวกอีกคนหนึ่งที่ใช้เวลาอยู่กับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) มากที่สุดอีกทั้งยังถือว่าท่านเซดเป็นผู้ที่เขียนจดหมายให้ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) มากที่สุดด้วยคนหนึ่งด้วย
บุคคลทั้งสามท่านที่ถูกกล่าวถึงข้างต้นนี้คือผู้ที่ถือว่าเป็นบุคคลที่มีบทบาทสำคัญที่สุดในการจดบันทึกอัล กุรอาน และเป็นอาลักษณ์ระดับต้น ๆ ของอิสลาม แต่นอกจากสามท่านที่กล่าวมีแล้วยังมีผู้ที่รับหน้าที่ดังกล่าวนี้อีกจำนวนหนึ่ง
อิบนิอะซีร กล่าวว่า : หนึ่งในบุคคลที่ได้รับหน้าที่จดบันทึกอัล กุรอานคือ อับดุลลอฮ์ บิน อัรกอม ซะฮ์รี เขาได้รับหน้าที่เขียนจดหมายให้ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ส่วนหนังสือสัญญาหรือข้อตกลงต่าง ๆ ของท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ท่านอะลีจะรับหน้าที่เขียนให้มีสาวกอีกจำนวนหนึ่งที่บางครั้งได้รับคำสั่งให้ทำการจดบันทึกอัล กุรอาน เช่น ท่านอบูบักร ท่านอุมัร ท่านอุษมาน ท่านเซด บิน อะวาม ท่านคอลิดและอะบาน บิน ซะอีด บิน อาซ ฮันซอละฮ์ อะลาอ์ บิน ฮัฎรอมี คอลิด บิน วะลีด อับดุลลอฮ์ บิน รอวาฮะฮ์ มุอาวียะฮ์ บิน อบูซุฟยาน และ ฯลฯ
อิบนิอะซีรยังกล่าวอีกว่า – ชาวกุเรชคนแรกที่ได้รับหน้าที่อาลักษณ์ให้กับท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) อับดุลลอฮ์ บิน ซะอด์ อะบี ซุรห์ แต่หลังจากนั้นต่อมาได้ออกจากอิสลามและกลับไปอยู่ที่มักกะฮ์ โดยที่โองการที่ 93 ซูเราะฮ์อันอามที่กล่าวว่า :
وَمَنْ أَظْلَمُ مِمَّنِ افْتَرَى عَلَى اللَّهِ كَذِبًا أَوْ قَالَ أُوحِيَ إِلَيَّ وَلَمْ يُوحَ إِلَيْهِ شَيْءٌ وَمَنْ قَالَ سَأُنْزِلُ مِثْلَ مَا أَنْزَلَ اللَّهُ وَلَوْ تَرَى إِذِ الظَّالِمُونَ فِي غَمَرَاتِ الْمَوْتِ وَالْمَلائِكَةُ بَاسِطُو أَيْدِيهِمْ أَخْرِجُوا أَنْفُسَكُمُ الْيَوْمَ تُجْزَوْنَ عَذَابَ الْهُونِ بِمَا كُنْتُمْ تَقُولُونَ عَلَى اللَّهِ غَيْرَ الْحَقِّ وَكُنْتُمْ عَنْ آيَاتِهِ تَسْتَكْبِرُونَ (٩٣)
“และใครเล่าคือ ผู้อธรรมยิ่งกว่าผู้ที่อุปโลกน์ความเท็จให้แก่อัลลอฮ์ หรือกล่าวว่าได้ถูกประทานโองการแก่ฉัน ทั้ง ๆ ที่มิได้มีสิ่งใดถูกประทานให้เป็นโองการแก่เขา และผู้ที่กล่าวว่า ฉันจะให้ลงมาเช่นเดียวกับสิ่งที่อัลลอฮ์ให้ลงมา และหากเจ้าจะได้เห็นขณะที่บรรดาผู้เอธรรมอยู่ในภาวะคับขันแห่งความตาย และมลาอิกะฮ์ กำลังแบมือของพวกเขา(โดยกล่าวว่า)จงให้ชีวิตของพวกท่านออกมา วันนี้พสกท่านจะได้รับการตอบแทน ซึ่งโทษแห่งการต่ำต้อย เนื่องจากที่พวกท่านกล่าวให้ร้ายแก่อัลลอฮ?โดยปราศจากความจริง และเนื่องจากการที่พวกท่านแสดงยะโสต่อบรรดาโองการของพระองค์”
ถูกประทานลงมาให้อับดุลลอฮ์ บิน ซะอด์ อะบี ซุรห์ นั่นเอง
บุคคลที่กล่าวชื่อมาข้างต้นเป็นบุคคลที่ในสมัยนั้นมีความรู้ด้านการอ่านเขียนซึ่งบางครั้งก็ได้รับคำสั่งจากท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) ให้ทำการจดบันทึกอัล กุรอานแต่บุคคลที่ถูกแต่งตั้งให้รับตำแหน่งอาลักษณ์อย่างเป็นทางการคือ ท่านอะลี บิน อะบีฏอลิบ ท่านอุบัย บิน กะอบ์ ท่านเซด บิน ซาบิต และท่านอับดุลลอฮ์ บิน อัรกอมเท่านั้น
ส่วนรูปแบบการเขียนในสมัยท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) จะเขียนอัล กุรอานลงบนวัสดุที่สามารถบันทึกตัวหนังสือลงบนนั้นได้ เช่นก้านอินทผาลัม หินชนวน หนังสัตว์ กระดาษ โดยหลังจากนั้นวัสดุที่ถูกบันทึกอัล กุรอานแล้วจะถูกเก็บรวมรวมที่บ้านท่านศาสดา (ศ็อล ฯ)
มุฮัมมะดีย์ : แปลและเรียบเรียง