Site icon

การเก็บรักษาและการเขียนบันทึกฮะดิษ

-1024x1024

การเก็บรักษาและการเขียนบันทึกฮะดิษ

น่าจะไม่มีข้อสงสัยและข้อครางแครงใจเลยว่าท่านศาสดาและบรรดาอิมามเน้นให้มุสลิมท่องจำและจดบันทึกฮะดิษ 

คำพูดและรายงานมากมายที่บรรดาอิมามเรียกร้องให้เรียนรู้ สนทนาและท่องจำฮะดิษเป็นหลักฐานยืนยันเรื่องนี้อย่างชัดเจน

ท่านศาสดา (ศ็อล ฯ) กล่าวว่า 

من حفظ من امتی اربعین حدیثا بعثه الله یوم القیامه عالما فقیها و یعذبه

ฮะดิษบทนี้มีรายงานไว้ทั้งสายซุนนีย์และชีอะฮ์ โดยมีตัวบทที่หลากหลาย

ท่านอัลลามะฮ์มัจลิซีย์ กล่าวถึงการเก็บรักษาฮะดิษว่ามี 3 ขั้นด้วยกัน หนึ่งคือการท่องจำตำบทฮะดิษในสมองหรือกระดาษ สองทำความเข้าใจความหมายฮะดิษ คิดใคร่ตรองและใคร่ครวญความหมายต่าง ๆ เหล่านั้น สามรักษาฮะดิษด้วยการปฏิบัติตามคำสอนของฮะดิษ

ฮะดิษข้างต้นส่งผลมากมายที่ทำให้บรรดามุสลิมให้ความสำคัญกับฮะดิษ จนซะฮ์บีย์  เขียนหนังสือ ตัซกีเราะตุลฮุฟฟาซ เพื่อทำความรู้จักนักท่องจำและผู้บันทึกฮะดิษไว้  มีนักรายงการบางคนท่องจำฮะดิษมากกว่า 30000 ฮะดิษอย่างที่มีรายงานเกี่ยวกับมุฮัมมัด บิน มุสลิมไว้เช่นนั้น หนังสือ เราะฮ์ละตุสศอฮาบะฮ์ ฟี เฏาละบุลฮะดิษ ซึ่งถูกจัดอยู่ในหมวดตำราเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ฮะดิษ ทั้งหมดนี้บ่งบอกถึงการให้ความสำคัญเกี่ยวกับฮะดิษอย่างมากมาย

เรื่องของการเก็บรักษา การเผยแพร่และการบันทึกฮะดิษก็เป็นเรื่องที่ท่านศาสนทูตและบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์รวมถึงบรรดาสาวกของท่านศาสดาและสาวกของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์แต่ละท่านก็ให้ความสำคัญมากมาย 

มีฮะดิษรายงานจากท่านศาสนทูตว่า 

“ท่านทั้งหลายจงผูกความรู้ของท่านไว้ด้วยการจดบันทึกเถิด”

มีชายคนหนึ่งมาหาท่านศาสนทูตพร้อมกับบอกถึงการไม่มีความสามารถในการจดจำข้อมูลที่มีความยาวมาก ท่านศาสนทูตกล่าวกับเขาว่า 

“ให้ใช้การจดบันทึกช่วยเหลือการท่องจำของท่านเถิด”

รายงานจาก รอฟิอ์ บิน เคาะดีจว่า  ฉันถามท่านนบีว่า บางประเด็นที่ฉันได้ยินมาจากท่าน ฉันจะเขียนบันทึกประเด็นเหล่านั้นไว้ได้หรือไม่ ?  ท่านนบีกล่าวว่า  “จงเขียนสิ่งเหล่านั้นไว้เถิด ไม่มีข้อห้าม “ มีรายงานในเรื่องเดียวกันนี้จาก อัมร์ บิน ชุเอบ  อับดุลลอฮ์บิน อัมร์ บิน อาซ 

อับดุลลอฮ์บิน อัมร์ อาซ ยังกล่าวอีกว่า ไม่ว่าฉันได้ยินสิ่งใดจากท่านนบีฉันจะเขียนบันทึกไว้เพื่อที่ฉันจะได้นำมาท่องจำ ชาวกุเรชห้ามฉันไม่ให้ทำสิ่งนี้ พวกเขากล่าวกันว่า  ท่านเขียนทุกสิ่งที่ท่านได้ยินจากท่านศาสนทูตในขณะที่ท่านศาสนทูตก็คือมนุษย์คนหนึ่ง บางครั้งท่านพูดในขณะโกรธหรือบางครั้งก็พูดในขณะที่ดีใจ จงหยุดเขียนเถิด ฉันเล่าเรื่องนี้ให้ท่านศาสนทูตฟัง ท่านศาสนทูตกลับกล่าวว่า “จงเขียนเถิด ขอสาบานต่อผู้ที่ชีวิตของฉันอยู่ในพระหัตของพระองค์ ทุกสิ่งที่ออกมาจากฉันมันคือสัจธรรมทั้งสิ้น”

ท่านอิมามอาลีรายงานจากท่านนบีมุฮัมมัด ว่า “จงจดบันทึกความรู้เอาไว้เถิด แท้จริงพวกท่านทั้งหลายจะได้ใช้ประโยชน์จากสิ่งที่จดไว้ภายหลัง บางครั้งก็ได้ใช้ประโยชน์ในโลกนี้หรือบางครั้งก็ได้ใช้ในอาคิเราะฮ์ เพราะความรู้ไม่เคยทำร้ายเจ้าของมันเด็ดขาด”

ท่านอิมามซอดิก (อ) รายงานจากบิดาของท่านว่า ท่านศาสนทูตเคยกล่าวว่า ”เมื่อท่านต้องการเขียนฮะดิษ จงเขียนพร้อมสะนัดเถิด ถ้าหากสิ่งที่อยู่ในฮะดิษเป็นสัจธรรมท่านก็จะมีส่วนในผลบุญด้วย แต่ถ้าหากเป็นเรื่องไม่จริงบาปจะตกอยู่ที่คนบอกฮะดิษนั้นกับท่าน”

รายงานจากท่านหญิง อุมมุซะละมะฮ์ ว่า ท่านศาสนทูตเคยขอให้เอาแผ่นหนังมาให้ ขณะนั้นอาลีอยู่กับท่านศาสนทูตด้วย  ท่านศาสนทูตบอกคำสอนให้อาลีเขียนจนเต็มแผ่นหนังทั้งหน้าและหลัง”

ท่านศาสนทูตเคยบอกกับท่านอิมามอาลีว่า 

โอ้อาลี เจ้าจงเขียนสิ่งที่ข้าบอกเถิด อาลีกล่าวว่า โอ้ท่านศาสนทูตท่านกลัวข้าลืมหรืออย่างไร ? ท่านศาสนทูตกล่าวตอบว่า ข้าไม่กลัวเจ้าลืมหรอก ฉันขอดุอาจากอัลลอฮ์ให้พระองค์ทำให้เจ้าเป็นผู้ท่องจำด้วยซ้ำ แต่ทว่าให้เจ้าเขียนเพื่อนลูกหลานของเจ้ารุ่นหลังจะได้มีความรู้ร่วมกับเจ้าด้วย”

ผลงานมากมายที่เกิดจากการที่ท่านนบีสอนแล้วสั่งให้เขียนเก็บไว้ เช่น เศาะฮีฟะตุนนบี  กิตาบอาลี  เศาะฮีฟะฮ์ฟาติมะฮ์ ผลงานเหล่านี้สามารถเป็นเครื่องยืนยันถืงว่าการเขียนบันทึกฮะดิษเป็นที่อนุญาติและเป็นที่แพร่หลายในเวลานั้นเป็นอย่างดี

นักค้นคว้าบางคนรวบรวมชื่อบรรดาซอฮาบะฮ์ 50 กว่าคนจากหนังสือ ริญาลและหนังสือที่กล่าวถึงนักรายงานฮะดิษที่เคยเป็นคนเขียนฮะดิษชื่อของพวกเขาเรียงตามอักษรภาษาอาหรับ

ถึงตรงนี้เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่าท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการเขียนบันทึกฮะดิษและบรรดาสาวกของท่านก็ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องนี้ด้วย

ประเด็นดังกล่าวนี้ได้รับการยืนยันจากนักวิชาการด้านฮะดิษมากมาย 

ดร.นูรุดดีน อิตร์ เขียนไว้ว่า 

มีฮะดิษระดับมุตะวาติรที่รายงานจากบรรดาศอฮาบะฮ์มากมายที่ยืนยันว่าในสมัยท่านนบีมีการเขียนบันทึกฮะดิษเกิดขึ้น

ดร.ซุบฮิ ซอและฮ์กล่าวว่า 

ไม่จำเป็นเลยที่เราจะโยงการเขียนฮะดิษและความพยายามในการเขียนฮะดิษไปที่สมัยของอุมัร อับดุลอะซีซ เพราะว่าตำรา รายงานและหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายแสดงให้เราเห็นอย่างไม่ต้องสงสัยเลยว่า ฮะดิษทั้งหลายถูกเขียนบันทึกในสมัยที่ท่านศาสนทูตยังมีชีวิตอยู่

ดร.มุศตอฟา อะอ์ซอมีย์ กล่าวว่า 

หลังจากผ่านการค้นคว้าแล้ว สามารถกล่าวได้ว่า ไม่ว่ามีรายงานจากพวกที่ไม่เชื่อเรื่องว่ามีการบันทึกฮะดิษเกิดขึ้นจริงเท่าใด รายงานที่ตรงกันข้ามกับความเชื่อนี้ก็มีมากเท่านั้น ดังนั้นเป็นที่เชื่อได้ว่ามีการเขียนบันทึกฮะดิษและการรายงานฮะดิษจากบรรดาศอฮาบะฮ์แน่นอน

ดร.อับดุลฆอนีย์ อับดุลคอลิก กล่าวว่า 

ศอฮาบะฮ์จำนวนมากเชื่อว่าการเขียนฮะดิษเป็นที่อนุญาต พวกเขายังเก็บรักษาฮะดิษที่พวกเขาจดบันทึกเอาไว้ด้วย อีกทั้งยังพยายามในการบันทึกฮะดิษอื่น ๆด้วย 

  อะฮ์มัด มุฮัมมัด ชากิร กล่าวว่า 

คำพูดที่ถูกต้องคือ บรรดาศอฮาบะฮ์เชื่อว่าการเขียนฮะดิษเป็นเรื่องที่ได้รับการอนุญาติแล้ว”

การเขียนบันทึกฮะดิษยังเป็นเรื่องที่ทำกันอยู่ตลอดทั้งในสมัยหลังจากที่ท่านศาสดามุฮัมมัดจากไปแล้วและในสมัยของบรรดาอะฮ์ลุลบัยต์ พวกเขาเจริญรอยตามท่านศาสดาที่เคยย้ำเรื่องนี้ตลอดรวมทั้งบรรดาสาวกของอะฮ์ลุลบัยต์ก็ให้ความสำคัญกับการเขียนฮะดิษด้วย

ดร.เชากี ฎอยฟ์ กล่าวว่า 

“ความสนใจของชีอะฮ์ในการเขียนเกี่ยวกับบทบัญญัติศาสนา (ฟิกฮ์) มีสูงมาก สาเหตุมาจากความเชื่อที่พวกเขามีต่ออิมามของพวกเขา พวกเขาเชื่อว่า อิมามคือผู้ชี้ทางและเป็นผู้นำทาง พวกเขายังเชื่ออีกว่า จะต้องปฏิบัติตามคำฟัตวาของบรรดาอิมามอย่างเคร่งครัด จึงเป็นเหตุให้พวกเขาให้ความสนใจคำตัดสินและคำฟัตวาของท่านอิมามอาลี  จากตรงนี้เองตำราเล่มแรกเป็นตำราจากชีอะฮ์ที่เขียนโดย ซะลีม บิน เกซ ฮิลาลี ในสมัยการปกครองของฮัจญาจ”

ซัยยิด ชะรอฟุดดีน กล่าวว่า 

“อิมามอาลีกับสาวกของท่าน ให้ความสำคัญเกี่ยวกับเรื่องการเขียนฮะดิษตั้งแต่แรก สิ่งแรกที่อิมามอาลีให้ความสำคัญคือการรวบรวมกุรอานให้เป็นเล่มสมบูรณ์ ซึ่งอิมามเองได้รวบรวมเป็นเล่มโดยเรียงตามลำดับโองการตามลำดับการประทานโองการที่ถูกประทานมาให้ท่านนบีและแจกแจงรายละเอียดไว้ทั้งหมดแล้ว หลังจากนั้นท่านอิมามก็หันไปเขียนหนังสือให้กับท่านหญิงฟาติมะฮ์ที่ต่อมาในหมู่ลูกหลานของเขารู้จักกันในชื่อ ซอฮีฟะฮ์ฟาติมะฮ์ ต่อมาท่านเขียนเกี่ยวกับเรื่อง ดิยาตที่ตั้งชื่อหนังสือว่า ศอฮีฟะฮ์ ซึ่งอิบนิสะอ์นำมากล่าวไว้ในตำราที่ชื่อว่า อัลญามิอ์ที่มีชื่อเสียงของเขาโดยกล่าวว่า รายงานจากอิมามอาลี และอื่น ๆ อีกมากมาย … และยังมีอบูรอฟิอ์ที่เป็นหนึ่งในผู้เขียนตำราที่มีชื่อเสียงของชีอะฮ์ที่เขียนหนังสือชื่อ سنن و احکام و قضایا ขึ้น”

ซัยยิด ฮะซัน ศ็อดร์ กล่าวว่า 

ชีอะฮ์ที่เขียนตำราเล่มแรกคือ อะบูรอฟิอ์ ที่เคยเป็นผู้รับใช้ท่านศาสดามุฮัมมัด (ศ็อล ฯ) มาก่อน

นอกจากอะบูรอฟิอ์เขียนหนังสือชื่อว่า سنن و احکام و قضایا บุตรชายของอะบูรอฟิอ์ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เลื่อมใสท่านอิมามอาลีก็เขียนหนังสือเกี่ยวกับเรื่อง การทำน้ำละหมาด การละหมาดและเรื่องราวเกี่ยวกับหลักปฏิบัติด้วยเช่นกัน 

อบูฮะนีฟะฮ์ให้ฉายาอิมามซอดิกว่า “เขาคือคัมภีร์ของฉัน” เมื่อฉายานี้ได้ยินถึงหูท่านอิมาม ท่านยิ้มและกล่าวว่า ที่บอกว่าฉันเป็นคัมภีร์ของเขาถูกต้องแล้ว 

บรรดาอิมามท่านอื่นรายงานฮะดิษมากมายจากตำราที่ท่านอิมามอาลีเขียนและมอบเป็นของขวัญเอาไว้ ซึ่งบางครั้งบรรดาอิมามอ่านฮะดิษเหล่านี้ให้บรรดาสาวกฟังด้วย

รายงานจากมุฮัมมัด บินมุสลิม ว่า ท่านอิมามซอดิก เคยอ่าน ศอฮีฟะฮ์ ฟารออิด ที่ท่านศาสดาสอนและท่านอิมามอาลีจดบันทึกไว้ด้วยมือของตัวเอง 

ทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นว่า การเขียนบันทึกฮะดิษเป็นที่แพร่หลายในหมู่ชีอะฮ์ซึ่งเราจะอธิบายรายละเอียดเรื่องนี้ในบทที่เกี่ยวกับประวัติฮะดิษของชีอะฮ์ 

แต่ในหมู่อะฮ์ลุซซุนนะฮ์หลังจากที่ท่านศาสดาเสียชีวิตลงมีช่วงเวลาหนึ่งการเขียนบันทึกฮะดิษต้องหยุดและมีการถูกห้ามเขียนและห้ามบันทึกฮะดิษด้วย ซึ่งในบทความตอนต่อไปจะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้

 

Exit mobile version