Site icon

ชีวประวัติท่านอิมามอาลี ตอนที่ 1 ศึกนอกและศึกใน

4201379

เมื่อพิจารณาถึงอันตรายที่จะเกิดขึ้นกับสังคมอิสลามโดยรวม ถ้าหากท่านอิมามอาลี (อ) ทำการต่อสู้เพื่อแย่งชิงตำแหน่งผู้นำ ด้วยเหตุนี้ท่านจึงตัดสินใจไม่ลุกขึ้นต่อสู้

ซึ่งหากพิจารณาถึงอันตรายทั้งภายในและภายนอกที่เป็นเหตุให้อะลี (อ.) ไม่คิดที่จะต่อสู้ด้วยอาวุธยุทโธปกรณ์ ได้ดังต่อไปนี้

1 ถ้าหากอิมาม(อ.) ได้ใช้อำนาจและต่อสู้โดยใช้อาวุธยุทโธปกรณ์เพื่อยึดการปกครองคืนมาท่านก็จะสูญเสียบรรดาบุคคลที่เป็นที่รักที่เชื่อในความเป็นผู้นำของท่านอย่าจริงใจ นอกเหนือจากนี้แล้วหลายกลุ่มด้วยกันที่เป็นสาวกของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ซึ่งไม่พอใจกับการปกครองของท่านอิมาม(อ.) ก็จะถูกสังหาร ซึ่งกลุ่มนี้นั้นถึงแม้พวกเขาจะมีจุดยืนที่ตรงข้ามกับท่านอิมาม(อ.)ในประเด็นเกี่ยวกับผู้นำและมีความแค้นเคืองต่อท่านและพวกเขาไม่พอใจที่จะให้อิมามอะลี (อ.) ทำการปกครองแต่พวกเขาก็ไม่มีความขัดแย้งกับท่านในเรื่องอื่น อย่างไรก็แล้วแต่การถูกสังหารของบุคคลกลุ่มนี้นั้นจะทำให้อำนาจในการเผชิญหน้ากับผู้ตั้งภาคี ผู้กราบไหว้เจว็ด ชาวคริสเตียนและชาวยิว ซึ่งเป็นอำนาจของบรรดามุสลิมอ่อนแอลงได้

อิมาม(อ.) ได้กล่าวไว้ในคุตบะห์หนึ่งของท่านเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า

เมื่ออัลลอฮ์(ซบ.) ได้นำวิญญาณของท่านศาสดา(ศ็อลฯ)ไปแล้วนั้น พวกกุเรชได้หลงตัวเองว่า เหนือพวกเรา พวกเขาได้แย่งสิทธิของพวกเราซึ่งมีความเหมาะสมมากกว่าทุกคนที่จะเป็นผู้นำประชาชาติ แต่ฉันเห็นว่าความอดทนต่อสิ่งนี้ดีกว่าการสร้างความแตกแยกให้กับบรรดามุสลิมและหลั่งเลือดพวกเขา เนื่องจากว่าประชาชนเพิ่งจะยอมรับอิสลามและศาสนา เปรียบได้กับถุงน้ำที่เต็มไปด้วยนมซึ่งกำลังเป็นฟอง และเพียงความบกพร่องอันน้อยนิดและความไม่ใส่ใจต่อมันก็จะก่อให้เกิดความเน่าเสียได้และแม้เพียงคนที่ (ต่ำต้อย)เพียงบางคนก็สามารถทำให้ (ศาสนา) ถูกทำลายได้(6)

2 บรรดาบุคคลที่มาจากกลุ่มและเผ่าต่างๆ ที่เข้ารับอิสลามในช่วงสุดท้ายของชีวิตท่านศาสดา (ศ็อลฯ)  พวกเขายังไม่ได้รับการสั่งสอนที่จำเป็นของอิสลาม รัศมีแห่งความศรัทธาก็ยังไม่ซึมซับไปในหัวใจของพวกเขา เมื่อข่าวการจากไปของท่านศาสดา (ศ็อลฯ) ได้แพร่กระจายไปถึงพวกเขา ได้มีบางกลุ่มของพวกเขาได้ชักธงแห่งความเป็นผู้ตกศาสนาและกลับไปสู่การกราบไหว้เจว็ด พวกเขาแสดงความขัดแย้งอย่างโจ่งแจ้งต่อการปกครองอิสลามในมะดีนะฮ์และไม่พร้อมที่จะจ่ายเงินภาษีของอิสลาม พวกเขาได้ทำการขู่ขวัญมะดีนะฮ์อย่างรุนแรงโดยการรวบรวมกองกำลังทางทหาร  ด้วยเหตุนี้สิ่งแรกที่รัฐปกครองใหม่ควรจะทำคือการระดมกำลังของบรรดามุสลิมกลุ่มหนึ่ง เพื่อปราบปรามบรรดา ผู้ตกศาสนา และในที่สุดไฟแห่งการก่อกบฏของพวกเขาก็ถูกดับลงได้ด้วยความพยายามของบรรดามุสลิม

ในสภาพการณ์เช่นนี้ที่บรรดาศรัตรูที่หันเหออกจากอิสลาม ได้ชักธงแห่งผู้ตกศาสนาและกำลังทำการคุกคามรัฐอิสลามจึงไม่เป็นสิ่งที่ถูกต้อง หากอิมาม(อ.) ได้จับธงอีกผืนเพื่อทำการต่อสู้

ในจดหมายฉบับหนึ่งที่ท่านอิมามได้เขียนถึงประชาชนอิยิปต์ ซึ่งได้พูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ว่า

“….ขอสาบานต่ออัลลอฮ์(ซบ.) ฉันไม่เคยคิดและไม่เคยเข้ามาอยู่ในความคิดของฉันมาก่อนเลยว่า ภายหลังจากท่านศาสดา(ศ็อลฯ) ชาวอาหรับจะพลิกผลันประเด็นเกี่ยวกับอิมามมะฮ์และตำแหน่งความป็นผู้นำออกไปจากอะฮ์ลุลบัยต์(อ.) ของท่าน (และนำไปวางในอีกที่หนึ่งและไม่เคยเชื่อมาก่อนว่า) พวกเขาจะนำอำนาจการปกครอง(คิ-ลาฟะฮ์) ออกห่างไปจากฉัน ! สิ่งเดียวที่ทำให้ฉันเกิดความเสียใจคือ กลุ่มชนที่อยู่รอบๆ ตัวเขา (อบูบักร) ซึ่งให้สัตยาบันกับเขา (เมื่อสภาพการณ์เป็นเช่นนี้) ฉันหยุดจนกระทั่งฉันเห็นด้วยตาของฉันเองว่า ได้มีกลุ่มหนึ่งหันเหออกจากอิสลามและพวกเขาต้องการทำลายศาสนาของมุฮัมมัด (ศ็อลฯ) (ตรงนี้แหละ) ที่ฉันกลัวถ้าหากฉันไม่ช่วยเหลืออิสลามและบุคคลที่นับถืออิสลาม ฉันคงต้องประจักษ์ต่อการที่อิสลามถูกทำลายและถูกทำให้เป็นเสี่ยงๆ ซึ่งฉันจะมีความเศร้าโศกต่อสิ่งนั้นมากกว่าการถูกริดรอนสิทธิจากตำแหน่งการปกครองพวกท่าน เนื่องจากว่าสิ่งนี้เป็นผลประโยชน์เพียงไม่กี่วันของดุนยาและมันจะมีวันจบสิ้นในที่สุดก็เหมือนกับ ภาพลวงตา ที่มีวันสูญสิ้นหรือก้อนเมฆที่สลายแยกออกจากกัน ฉะนั้นเมื่อเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ได้เกิดขึ้น ฉันจึงลุกขึ้นยืนหยัดเพื่อให้ความไม่ถูกต้องหายไปและถูกทำลายในที่สุดและให้ศาสนายังคงอยู่และมั่นคงต่อไป(7)

        3 นอกเหนือจากอันตรายของพวกตกศาสนา ยังมีกลุ่มผู้แอบอ้างตนว่าเป็นนบีและหลอกว่าเป็นบรรดาศาสดาเกิดขึ้นเช่น มุซัยละมะฮ์ , ฏุลัยฮะห์ และ ซะญาฮ์ และแต่ละคนก็ได้รวบรวมบรรดาสาวกและกลุ่มกองกำลังที่อยู่รอบตัวเขา ซึ่งมีจุดมุ่งหมายที่จะโจมตีมะดีนะฮ์แต่เพราะความร่วมมือกันและความเป็นหนึ่งเดียวของบรรดามุสลิมที่มีความอุตสาหะนั้นทำให้กองกำลังของพวกเขาได้รับความพ่ายแพ้

       4อันตรายจากการจู่โจมของชาวโรมันก็สามารถเป็นที่กังวลอีกเรื่องหนึ่งได้เช่นกัน สำหรับการสู้รบของบรรดามุสลิม เนื่องจากว่าบรรดามุสลิมได้เคยต่อสู้กับชาวโรมันถึง 3 ครั้งด้วยกันและชาวโรมันเองก็ถือว่า บรรดามุสลิมก็เป็นอันตรายสำหรับพวกเขาอย่างมากและพยายามหาโอกาสจู่โจมศูนย์กลางของอิสลาม ถ้าหากอิมามอะลี(อ.) ได้ลุกขึ้นต่อสู้ทางด้านอาวุธ ความอ่อนแอภายในของบรรดามุสลิมที่จะเกิดขึ้นก็จะกลายเป็นโอกาสที่ดีที่สุด ที่ทำให้ชาวโรมันใช้ประโยชน์จากความอ่อนแอนี้

       เมื่อได้พิจารณาไปถึงเหตุผลต่างๆ ที่กล่าวไปแล้ว เป็นที่กระจ่างว่าทำไมอิมาม(อ.)ถึงถือว่าความอดทนดีกว่าการต่อสู้และท่านได้ทำให้สังคมอิสลามปลอดภัยจากอันตรายที่รุนแรงโดยใช้ความอดทน อดกลั้น ไตร่ตรองและมองการไกลอย่างไรและถ้าหากไม่ใช่เพราะท่านต้องการจะให้บรรดามุสลิมมีเอกภาพกันและไม่กลัวต่อความแตกแยกของพวกเขาแล้วนั้น ท่านจะไม่มีวันยอมให้อำนาจการเป็นผู้นำของบรรดามุสลิมเบี่ยงเบนออกไปจากบรรดาผู้สืบทอดอำนาจปกครองที่แท้จริงของศาสดา(ศ็อลฯ) และยอมให้ตกไปอยู่ในน้ำมือของผู้อื่น

Exit mobile version