คำถาม : ทำไมตามบทบัญญัติของศาสนาอิสลามถึงให้สิทธิแก่บุรุษในการรับมรดกมากกว่าสตรีเป็นสองเท่า? ซึ่งกฏเกณฑ์เช่นนี้เป็นการกดขี่สิทธิสตรีและเลือกปฏิบัติต่อสตรีใช่หรือไม่?
คำตอบ สิทธิทางมรดกของศาสนาอิสลามตามที่ทราบกันก็คือ ผู้ชายมีสิทธิในการรับมรดกมากกว่าผู้หญิงเป็นสองเท่า แต่ถ้าศึกษาให้ละเอียดในเรื่องนี้จะพบว่าในหลายๆกรณีที่เป็นข้อปลีกย่อยผู้ชายจะไม่ได้รับมรดกเป็นสองเท่าของผู้หญิงเสมอไป และในหลายกรณีที่ผู้หญิงได้สิทธิในมรดกเท่ากับผู้ชาย
สิ่งหนึ่งที่อยากให้ท่านทั้งหลายได้ตระหนักก็คือ นับแต่อดีตจนถึงปัจจุบันผู้ที่ขับเคลื่อนทางด้านเศรษฐกิจส่วนใหญ่ของสังคมนั้นมาจากเพศชาย และอีกประการหนึ่ง ผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบในการใช้จ่ายของครอบครัวตามหลักการของศาสนาอิสลามนั้นก็เป็นผู้ชาย ภาระหน้าที่ๆต้องใช้จ่ายของผู้ชายนั้นมีอยู่อย่างมากมาย อาทิ มะฮัร (ค่าสินสมรส)ของภรรยา ค่าเลี้ยงดูครอบครัวไม่ว่าจะเป็นภรรยาหรือบุตร(นะฟะเกาะฮ์) หรือแม้กระทั่งค่าจ้างในการทำงานบ้านหรือแม้แต่การให้นมบุตรของภรรยา (หากนางได้เรียกร้อง)และอื่นๆ ซึ่งทั้งหลายทั้งปวงที่กล่าวมานี้เป็นหน้าที่ของผู้ชายทั้งสิ้น ในขณะที่หน้าที่ในการที่จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเช่นนี้ตามหลักการของศาสนาอิสลามแล้วไม่เป็นหน้าที่ของสตรีแต่อย่างใด
ฉะนั้นถ้าพิจารณาให้ดีจะเห็นได้ว่าเรื่องของการแบ่งมรดกนั้นไม่ได้กดขี่สิทธิของสตรีแต่อย่างใด และถ้าหากมองลึกลงไปกว่านั้นจะพบได้ว่า ผู้หญิงยังได้รับทรัพย์สินส่วนใหญ่ที่ผู้ชายหามาอีกเช่นกัน
ส่วนอีกประการหนึ่ง หากศึกษาให้ดีจะพบว่าในอดีตที่ผ่านมาในหลายๆสังคมของมนุษย์ สตรีไม่มีสิทธิที่จะได้รับมรดกด้วยซ้ำไป ในขณะที่ศาสนาอิสลามได้ยืนยันถึงสิทธิในเรื่องนี้ของสตรี ดังที่อัลกุรอานได้กล่าวว่า
لِلرِّجَالِ نَصِيبٌ مِمَّا تَرَكَ الْوَالِدَانِ وَالأقْرَبُونَ وَلِلنِّسَاءِ نَصِيبٌ مِمَّا تَرَكَ الْوَالِدَانِ وَالأقْرَبُونَ مِمَّا قَلَّ مِنْهُ أَوْ كَثُرَ نَصِيبًا مَفْرُوضًا
สำหรับบรรดาชายนั้น มีส่วนได้รับ(มรดก)จากสิ่งที่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและบรรดาญาติที่ใกล้ชิดได้ทิ้งไว้ และสำหรับบรรดาหญิงนั้นก็มีส่วนได้รับจากสิ่งที่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสองและบรรดาญาติที่ใกล้ชิดได้ทิ้งไว้ ซึ่งสิ่งนั้นจะน้อยหรือมากก็ตาม เป็นส่วนได้รับที่ถูกกำหนดอัตราส่วนไว้แล้ว (ซูเราะฮ์นิซาอ์ โองการที่ 7)