ความเท่าเทียมกันระหว่างหญิงชายในมุมมองอิสลาม

มีคำกล่าวว่าในทัศนะของอิสลามถือว่าผู้ชายเป็นตัวหลัก ส่วนผู้หญิงเป็นส่วนประกอบ และในแง่ของความเป็นมนุษย์ผู้หญิงมีสถานะต่ำกว่าผู้ชาย คำกล่าวดังกล่าวถือว่าถูกต้องหรือไม่  ? 

คำตอบคือ เพศหญิงและเพศชาย มีความเท่าเทียมกันในฐานะที่ทั้งคู่เป็นมนุษย์  โดยมีคุณสมบัติของความเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่มีโครงสร้างทางกายภาพที่แตกต่างกัน และการคำนึงถึงความเหมือนซึ่งความแตกต่างระหว่างชายกับหญิงนี้เองที่จะสามารถให้คำตอบแก่เราในเรื่องสิทธิและหน้าที่ของได้เป็นอย่างดี

ในส่วนของความเหมือนระหว่างชายและหญิงหากเราพิจาณาจากคำสอนของอัลกุรอานเราสามารถแบ่งออกเป็นข้อ ๆได้ดังนี้

  1. ชายและหญิงมีความเหมือนกันในด้านแก่นแท้ของความเป็นมนุษย์ หมายถึงเป็นมนุษย์เหมือนกัน ในอดีตที่ผ่านมามีทัศนะเก่าแก่ที่เชื่อกันว่าผู้หญิงไม่ใช่มนุษย์ แต่อิสลามมีความเห็นขัดแย้งเกี่ยวกับทัศนะดังกล่าวอย่างรุนแรง

ในโองการที่ 1 ของซูเราะฮ์นิซาอ์กล่าวว่า  “มนุษยชาติทั้งหลาย ! จงยำเกรงพระผู้อภิบาลของพวกเจ้าที่ได้บังเกิดพวกเจ้ามาจากชีวิตหนึ่ง และได้ทรงให้คุ่ครองของเขาบังเกิดจากเขา”

ในประโยคที่กล่าวว่า “ได้ทรงให้คู่ครองของเขาบังเกิดจากเขา” ในโองการข้างต้นแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าคู่ครองของท่านศาสดาอาดัมเป็นมนุษย์เช่นเดียวกับท่านศาสดาอาดัม (อ.) 

เช่นเดียวกันความเหมือนกันระหว่างท่านศาสดาอาดัม (อ.)  และพระนางฮาวาในด้านการถูกล่อลวงจากชัยฏอนก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งสิ่งดังกล่าวนี้แสดงให้เห็นถึงความเหมือนกันในด้านชะตากรรมระหว่างหญิงและชายด้วย ในส่วนนี้มีประเด็นหนึ่งที่อยากจะกล่าวถึงก็คือ เมื่อเรานำเรื่องราวของท่านศาสดาอาดัม (อ.) ที่ถูกกล่าวไว้ในคัมภีร์เตารอตกับสิ่งที่ถูกกล่าวไว้ในอัลกุรอานมาเปรียบเทียบกัน เราจะพบประเด็นที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ในคัมภีร์เตารอตหนังสือปฐมกาล บทที่ 3 โองการที่ 1- 31 กล่าวว่า : “งูตัวหนึ่งเข้ามาพูดคุยสนทนากับพระนางฮาวาและได้โน้มน้าวพระนางฮาวา จนในที่สุดพระนางฮาวาหลงไปตามคำพูดของงูเห็นว่าต้นไม้นั้นเป็นต้นไม้ที่ดี งูล่อลวงให้ท่านหญิงเห็นว่าเป็นต้นไม้ที่ดีและจะทำให้เพิ่มพูนความรู้ หลักจากนั้นเองพระนางจึงกินผลไม้ของต้นนั้นและยังนำผลไม้ดังกล่าวมาให้สามีของนางด้วยและสามีของนางก็กินผลไม้นั้นด้วย เมื่ออาดัมถูกตำหนิจากการกระทำดังกล่าวจึงกล่าวว่า – ผู้หญิงที่พระองค์ทรงให้มาเป็นคู่ครองของฉัน ได้นำผลไม้นั้นมาให้ฉัน ฉันจึงกินมันเข้าไป พระผู้เป็นเจ้าจึงตรัสกับนางว่า –  เจ้าได้ทำอะไรลงไป นางกล่าวว่า – งูได้ล่อลวงฉัน ฉันจึงกินผลไม้นั้น” 

ตามคำกล่าวข้างต้น ชาวยิวและคริสเตียนจึงเชื่อว่า ชัยฏอนได้ล่อลวงพระนางฮาวา และพระนางฮาวาก็ได้ล่อลวงศาสดาอาดัม (อ.) อีกต่อหนึ่ง

อัลกุรอานได้กล่าวถึงเรื่องราวของท่านศาสดาอาดัม (อ.) โดยกล่าวว่า ทั้งสองได้รับคำสั่งให้ปฏิบัติและคำสั่งห้ามจากอัลลอฮ์ (ซบ.) เหมือนกันทั้งคู่ และทั้งคู่ก็ถูกล่อลวงจากชัยฏอนเหมือนกัน ดังนั้นตามทัศนะของอัลกุรอานแล้วพระนางฮาวาไม่ได้เป็นผู้ล่อลวงท่านศาสดาอาดัม (อ.)  แต่ทั้งคู่เป็นผู้ถูกล่อลวงจากชัยฏอนเหมือนกัน

2 . บุรุษและสตรีมีศักยภาพที่จะไปถึงยังความสมบูรณ์แบบของความเป็นมนุษย์จากการเคารพภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าและปฏิบัติตามบทบัญญัติของพระองค์ได้อย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่อย่างที่บางคนคิดกันว่าบุรุษเท่านั้นจะได้รับความสมบูรณ์แบบของความเป็นมนุษย์ 

3 .มีบุรุษและสตรี อยู่ในกลุ่มที่อยู่กับสัจธรรมและทั้งกลุ่มที่อธรรม ไม่ใช่ว่าเพศจะเป็นสิ่งจำกัดให้อยู่ในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ดังนั้นสิ่งที่จะทำให้มนุษย์ไปอยู่ร่วมกับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งไม่ใช่อยู่ที่ความเป็นชายหรือหญิงแต่อยู่ความศรัทธาที่แท้จริงของแต่ละคนต่างหาก .

  1. มีภาระหน้าที่และบทบัญญัติอื่น ๆ อีกมากมายที่สตรีและบุรุษมีเหมือนกัน  เช่น โองการที่ 30-31 ซูเราะฮ์นูร

“จงกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาชาย ให้พวกเขาลดสายตาของพวกเขาลงต่ำ และรักษาอวัยวะเพศของพวกเขา นั่นเป็นการบริสุทธิ์ยิ่งแก่พวกเขา แท้จริงอัลลอฮ์ทรงตระหนักในสิ่งที่พวกเขากระทำ”

“และจงกล่าวแก่บรรดาผู้ศรัทธาหญิงให้พวกเธอลดสายตาของพวกเธอลงต่ำ และรักษาอวัยวะเพศของพวกเธอ….”

เช่นกันในโองการที่สองของซูเราะฮ์นี้ ความว่า : 

“หญิงที่ผิดประเวณีและชายที่ผิดประเวณี พวกเจ้าจงโบยแต่ละคนจำนวนหนึ่งร้อยที”

โองการที่ 38 ซูเราะฮ์มาอิดะฮ์  ความว่า : 

“และชายที่ขโมยและหญิงที่ขโมย พวกเจ้าจงตัดมือของทั้งสองคน ทั้งนี้เพื่อเป็นการตอบแทนในสิ่งที่ทั้งสองได้กระทำไว้ ด้วยการลงโทษจากอัลลอฮ์”

  1. ไม่มีความแตกต่างที่เป็นการกดขี่ข่มเหงระหว่างบุรุษกับสตรี เมื่อครั้งที่รัศมีแห่งอิสลามได้ทอแสง ชาวอาหรับที่ตั้งภาคีมีจารีตประเพณีจนเป็นเหตุให้สตรีเพศต้องถูกกดขี่อย่างรุนแรง ถึงขั้นที่ว่าพวกเขาจะนำบุตรสาวของตนเองไปฝังทั้งเป็น ซึ่งอัลกุรอานประณามการกระทำเช่นนี้ไว้ในซูเราะฮ์นะห์ล โองการที่ 58-59 และซูเราะฮ์ตักวีร โองการที่ 8-9 
  2. สตรีเพศก็สามารถมีบทบาททางสังคมและการเมืองอย่างเป็นเอกเทศเหมือนกับบุรุษเพศ ไม่ใช่ว่าพวกเธอจะต้องตามหลังบุรุษเพศเสมอไป พวกเธอมีสิทธิที่จะเข้าร่วมได้จนถึงขั้นที่ความแตกต่างทางโครงสร้างของร่างกายและความรู้สึกตามที่พระผู้เป็นเจ้าได้สร้างขึ้นมา ไม่อาจเอื้ออำนวยให้สามารถเข้าร่วมภารกิจทางสังคมได้อย่างเท่าเทียมกันได้  อัลกุรอานกล่าวถึงความเป็นเอกเทศของสตรีเพศในด้านสังคมและการเมืองไว้ในซูเราะฮ์มุมตะหินะฮ์ โองการที่ 10 และ12 ว่า : 

“โอ้บรรดาผู้ศรัทธา  เมื่อบรรดาหญิงผู้ศรัทธาเป็นผู้ลี้ภัยมาหาพวกเจ้า ก็จงสอบสวนพวกนาง อัลลอฮ์ทรงรู้ดียิ่งในการศรัทธาของพวกนาง ครั้นเมื่อพวกเจ้ารู้ว่าพวกนางเป็นผู้ศรัทธา ก็อย่าได้ส่งพวกนางกลับไปยังพวกปฏิเสธศรัทธา พวกนางมิได้เป็นที่อนุมัติแก่พวกเขา และพวกเขาก็มิได้เป็นที่อนุมัติแก่พวกนาง  และจงจ่ายคืนให้พวกเขา (สามีเดิมที่เป็นกาเฟร) สิ่งที่พวกเขาได้จ่ายไป (มะฮัร) 

 โอ้ ศาสดา เมื่อบรรดาหญิงผู้ศรัทธาได้มาหาเจ้าโดยพวกนางเพื่อให้ปฏิญาณแก่เจ้าว่า พวกนางจะไม่ตั้งภาคีใด ๆ ต่ออัลลอฮ์ ไม่ขโมย ไม่ผิดประเวณี ไม่ฆ่าลูก ๆ ของพวกนาง และจะไม่ใส่ร้ายที่พวกนางได้กุมันขึ้นมาระหว่างมือและเท้าของพวกนาง ( โดยไม่โกหกว่าลูกที่เกิดจากการร่วมหลับนอนกับคนอื่นเป็นลูกของสามีของพวกนาง ) และจะไม่ขัดขืนคำสั่งของเจ้าในเรื่องดีงาม ดังนั้นจงรับการปฏิญาณของพวกนาง และจงขอต่ออัลลอฮ์ให้ทรงอภัยแก่พวกนาง แท้จริงอัลลอฮ์เป็นผู้ทรงอภัยผู้ทรงเมตตาเสมอ”

  1. สตรีเพศสามารถมีเอกสิทธิทางทรัพย์สินและใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างเป็นเอกเทศ อิสลามตามหลักธรรมคำสอนของอัลกุรอานสตรีมีสิทธิในการเป็นเจ้าของและมีส่วนร่วมในเรื่องมรดก

“สำหรับผู้ชายนั้นมีส่วนได้รับจากสิ่งที่พวกเขาได้ขวนขวายไว้ และสำหรับหญิงนั้นก็มีส่วนได้รับจากสิ่งที่พวกนางได้ขวนขวายไว้”  

“และสำหรับแต่ละคนนั้น เราได้ให้มีผู้รับมรดก จากสิ่งที่ผู้บังเกิดเกล้าทั้งสอง และญาติที่ใกล้ชิดได้ทิ้งไว้ และบรรดาผู้ที่มือขวาของพวกเจ้าได้ตกลงไว้นั้น ก็จงให้แก่พวกเขาซึ่งส่วนได้ของพวกเขา แท้จริงอัลลอฮ์ทรงเป็นพยานในทุกสิ่งทุกอย่าง” (ซูเราะฮ์นิซาอ์ โองการที่ 32-33)

  1. ผู้เป็นพ่อและผู้เป็นแม่มีสิทธิร่วมกันในการสร้างครอบครัว ในการอบรมสั่งลูก ๆ ของตน ไม่ต้องสงสัยเลยว่าผู้เป็นแม่ที่อุ้มครรภ์มาเป็นเวลา 9 เดือน และต้องให้น้ำนมแก่ลูกประมาณ 2 ปี มีหน้าที่ต้องเลี้ยงดูลูก ๆตั้งแต่คลอด ย่อมมีผลต่อลูกมากกว่าผู้เป็นพ่อ ฉะนั้นเธอย่อมมีสิทธิมากกว่าผู้เป็นพ่อ ด้วยเหตุนี้อัลกุรอานและคำสอนที่ได้รับมาจากฮะดีษจำนวนมากมายนอกจากจะกล่าวถึงสิทธิที่มีร่วมกันระหว่างผู้เป็นพ่อและผู้เป็นแม่แล้ว ยังกล่าวถึงสิทธิที่ ๆ มีมากกว่าของผู้เป็นแม่ไว้อีกด้วย ดังที่มีฮะดีษกล่าวไว้ว่า “สวรรค์อยู่ใต้ฝ่าเท้ามารดา” 

บางโองการกล่าวถึงสิทธิร่วมกันระหว่างผู้เป็นพ่อและผู้เป็นแม่  :

“และพระเจ้าของเจ้าบัญชาว่า พวกเจ้าอย่าเคารพภักดีผู้ใดนอกจากพระองค์เท่านั้นและจงทำดีต่อบิดามารดา เมื่อผู้ใดในทั้งสองหรือทั้งสองบรรลุสู่วัยชราอยู่กับเจ้า ดังนั้นอย่ากล่าวแก่ทั้งสองว่า อุฟ ! และอย่าขู่เข็ญท่านทั้งสอง และจงพูดแก่ท่านทั้งสองด้วยถ้อยคำที่อ่อนโยน”

 

“ และจงนอบน้อมแก่ท่านทั้งสอง ซึ่งการถ่อมตนเนื่องจากความเมตตา และจงกล่าวว่า “ข้าแต่พระผู้อภิบาลของฉัน ทรงโปรดเมตตาแก่ท่านทั้งสองเช่นที่ทั้งสองได้เลี้ยงดูฉันเมื่อเยาว์วัย” (ซูเราะฮ์อิสรออ์ โองการที่ 23-24)

และยังมีโองการที่กล่าวถึงสิทธิที่มากกว่าของผู้ที่เป็นแม่ ไว้อีกเช่นกันว่า : 

“และเราได้สั่งเสียมนุษย์ให้ทำดี ต่อบิดามารดาของเขา มารดาของเขาได้อุ้มครรภ์เขาด้วยความเหนื่อยยาก และได้คลอดเขาด้วยความเจ็บปวด และการอุ้มครรภ์เขาและการหย่านมของเขาในระยะเวลาสามสิบเดือน” (ซูเราะฮ์อะห์กอฟ โองการที่ 15)

การกล่าวถึงความเหนื่อยยากลำบากของผู้ที่เป็นแม่ นอกจากจะเป็นการบ่งบอกถึงสิทธิที่มากกว่าของผู้เป็นแม่แล้วยังชี้ให้เห็นถึงสถานภาพที่สูงส่งของนางอีกด้วย

ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้พอสรุปได้ว่าความเป็นเพศชายและเพศหญิง มีความเหมือนกันในความเป็นมนุษย์โดยไม่มีความเหลื่อมล้ำกันแต่ประการใด

Exit mobile version