Site icon

วิเคราะห์เรื่องเล่าในกุรอาน (ตอนที่ 2)

kootah-q1

องค์ประกอบของเรื่องเล่าในกุรอาน (ตอนที่ 1)

องค์ประกอบของเรื่องเล่าในกุรอาน (ตอนที่ 1)

ในวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเล่าส่วนมากจะถูกนำเสนออยู่ในองค์ประกอบเฉพาะเช่นต้องมีตัวละคร เนื่อเรื่อง มีการกล่าวถึงเวลา สถานที่และมีบทสนทนาอยู่ในนั้นโดยถ้าหากว่าขาดสิ่งหนึ่งสิ่งใดไปจะถูกถือว่าเป็นความบกพร่องของเรื่องเล่าดังกล่าวไปเลย  แต่เรื่องเล่าในกุรอานทุกองค์ประกอบที่กล่าวถึงทั้งหมดอวางอยู่ภายใต้  “วัตถุประสงค์” องค์ประกอบทุกอย่างมีบทบาทมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์นี้เอง ดังนั้นในเรื่องเล่ากุรอานบางทีจะมีการพูดถึงเนื้อหาของเรื่องมากกว่าการกล่าวถึงตัวละคร บางทีบทสนทนาของเรื่องเป็นเนื้อหาสำคัญในการเล่าเรื่องและให้ความสำคัญมากกว่าเวลาหรือสถานที่

จากตรงนี้จะขอนำเสนอองค์ประกอบของการเล่าเรื่องโดยสังเขปพร้อมยกตัวอย่างจากอัลกุรอานมาประกอบคำอธิบายด้วย

ตัวละคร

ตัวละครถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการเล่าเรื่องและเป็นหนึ่งในพื้นฐานสำคัญของเรื่องด้วย แต่แตกต่างกันตรงที่ว่า เรื่องเล่าทั่วไปจะใช้ตัวละครเป็นตัวเอกและเป็นตัวเดินเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมด ผู้อ่านส่วนมากจะติดตามบทบาทและเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับตัวเอกเท่านั้น

แต่เรื่องเล่าในกุรอานตัวละครจะไม่ใช่ศูนย์กลางของเรื่อง ด้วยเหตุนี้เองเรื่องเล่าส่วนมากที่บรรดาศาสนทูตเป็นตัวเอกของเรื่อง จะถูกนำเสนอในฐานะต้นแบบและเป็นมนุษย์ผู้สมบูรณ์ที่สามารถนำมาเป็นแบบอย่างเมื่ออยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างความดีและความฃั่วเท่านั้น ไม่ใช่หลักและแกนกลางของเรื่องราว [1]

ในเรื่องเล่ากุรอานบางครั้งตัวเอกของเรื่องก็ไม่ใช่ศาสนทูต บางทีเป็นคนธรรมดาที่บางครั้งเป็นผู้หญิงหรือผู้ชายก็มี บางทีเป็นสัตว์ ญินหรือบ้างก็เป็นทูตสวรรค์ซึ่งจะถูกนำเสนอในรูปแบบที่คลุมเครือไม่เอ่ยชื่อและคุณลักษณะใด ๆ เลยโดยไม่ให้วัตถุประสงค์หลักในการเล่าเรื่องจะต้องตกอยู่ภายใต้ความสำคัญของตัวละคร

ดังนั้นในกรณีที่ชื่อของตัวละครไม่ได้มีผลต่อการนำเสนอคำสอนและวัตถุประสงค์หลักในการเล่าเรื่องและอาจทำให้ผุ้อ่านสนใจในประเด็นปลีกย่อย ชื่อตัวละครจะไม่ถูกเอ่ยถึงและจะให้ความสำคัญกับเนื้อเรื่องและคำสอนของเรื่องแทน

อย่างเช่นในซูเราะฮ์ยาซีน ชื่อของมุอ์มินผู้เรียกร้องให้กลุ่มชนของตนเชื่อฟังและปฏิบัติตามศาสนทูตไม่ถูกเอ่ยชื่อว่าเป็นผู้ใด นำเสนอเพียงคำสอนและคำพูดของเขาเท่านั้นดังที่กุรอานกล่าวว่า

وَجَاء مِنْ أَقْصَى الْمَدِينَةِ رَجُلٌ يَسْعَى قَالَ يَا قَوْمِ اتَّبِعُوا الْمُرْسَلِينَ [2]

“มีชายคนหนึ่งเดินทางจากเมืองอันไกลโพ้น พยายามกล่าวและเรียกร้องว่า โอ้กลุ่มชนของฉัน จงปฏิบัติตามศาสนทูตเถิด”

ส่วนในกรณีที่ชื่อของตัวละครมีผลต่อตำสอนที่ต้องการนำเสนอหรือบางทีสามารถช่วยให้คลายข้อสงสัยบางอย่างได้ ในกรณีเช่นนี้กุรอานไม่แค่เพียงนำเสนอชื่อตัวละครเท่านั้นแต่ยังกล่าวถึงญาติสนิทมิตรสหายของตัวละครตัวนั้นด้วย ตัวอย่างเช่นในการเล่าถึงเรื่องราวของนบีอีซา กุรอานกล่าวถึงท่านหญิงมัรยัมมารดาของท่านนบีอีซาด้วย โดยอัลกุรอานกล่าวว่า

إِذْ قَالَ اللّهُ يَا عِيسى ابْنَ مَرْيَمَ اذْكُرْ نِعْمَتِي عَلَيْكَ وَعَلَى
وَالِدَتِكَ إِذْ أَيَّدتُّكَ بِرُوحِ الْقُدُسِ تُكَلِّمُ النَّاسَ فِي الْمَهْدِ وَكَهْلًاِ [3]

“จงรำลึกถึงเมื่อครั้งที่อัลลอฮ์ทรงกล่าวว่า โอ้อีซา บุตร มัรยัม จงนึกถึงความโปรดปรานของฉันที่มอบให้แก่เจ้าและมารดา อีกทั้งจงรำลึกถึงครั้งที่ฉันนำเสนอเจ้ากับ รูฮุลกุดุซ จนเจ้าสามารถพูดกับผู้คนในขณะที่เป็นทารกอยู่ในเปล”

ในโองการข้างต้น อัลกุรอานเล่าเรื่องนบีอีซาพร้อมกับกล่าวชื่อนบีซึ่งเป็นตัวละครสำคัญในเรื่องนี้พร้อมกันนั้นยังกล่าวถึงมารดาของนบีคือท่านหญิงมัรยัมอีกด้วยเนื่องจากจะสื่อให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของอัลลอฮ์ที่ประทานบุตรชายให้กับท่านหญิงมัรยัมทั้ง ๆ ที่นางไม่ได้แต่งงานมาก่อนอีกทั้งยังชี้ให้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของท่านนบีอีซาที่พูดกับผู้คนที่ขณะที่ยังเป็นทารกน้อยและที่สำคัญในหมู่สตรีทั้งหลายกุรอานกล่าวถึงชื่อท่านหญิงมัรยัมเพียงคนเดียวเท่านั้น

ประเด็นน่าสนใจ

เป้าหมายของคำว่า ตัวละคร คือใครก็ตามที่เป็นต้นเรื่อง ดังนั้นในเรื่องเล่ากุรอานนอกจากมนุษย์แล้วบรรดาทูตสวรรค์ ญินและสัตว์ถูกนำเสนอให้เป็นตัวละครของเรื่องเล่าด้วยเช่นในเรื่องเล่าของท่านนบีสุไลมานที่มดถูกนำเสนอให้เป็นเป็นตัวเอกของเรื่องดังที่กุรอานกล่าวไว้ว่า

حَتَّى إِذَا أَتَوْا عَلَى وَادِي النَّمْلِ قَالَتْ نَمْلَةٌ يَا أَيُّهَا النَّمْلُادْخُلُوا
مَسَاكِنَكُم لَا يَحْطِمَنَّكُمْ سُلَيْمَانُ وَجُنُودُهُ  [4]

“เมื่อนบีสุลัยมานเดินทางมาถึง อาณาจักรมด มีมดตัวหนึ่งพูดขึ้นว่า โอ้เพื่อนมดทั้งหลาย จงรีบหนีเข้าไปในสถานที่พำนักของตัวเองเถิด”

เนื้อเรื่อง

เรื่องราวหรือเนื้อเรื่องคือ ฉากสำแดงความคิดของผู้คน ความคิด ความรู้สึกและการกระทำของตัวละครที่ได้สำแดงตนให้ผู้อ่านได้เห็นในรูปแบบของเหตุการณ์ต่าง ๆ  โดยการนำเสนอเรื่องราวนี้เองความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครคนหนึ่งกับคนอื่นหรือความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับสภาพการณ์ต่าง ๆ ที่แวดล้อมเขาอยู่จะถูกทำให้เห็นชัดเจน โดยความเป็นจริงแล้วเนื้อเรื่องคือความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นทั้งหมดนั่นเอง

ในกุรอานเนื้อเรื่องเป็นองค์ประกอบและเป็นพื้นฐานสำคัญของเรื่องเล่า แต่จะไม่สำคัญถึงขนาดที่ว่า เมื่อกล่าวถึงเนื้อหาแล้วจะทำให้วัตถุประสงค์หลักคือการนำเสนอคำสอนจะต้องถูกลืมไป ด้วยเหตุนี้เองบางครั้งในการเล่าเรื่อง กุรอานจะตัดเนื้อหาบางส่วนไปหรือไปกล่าวเนื่อหานั้นในอีกที่หนึ่ง เหมือนอย่างในซูเราะฮ์ ซอฟฟาต ที่กล่าวถึงเรื่องราวของบรรดาศาสนทูตหลายท่าน (โดยชี้ให้เห็นถึงพลานุภาพของอัลลอฮ์ในการช่วยเหลือบรรดาศาสนทูตให้รอดพ้นจากอันตราย) ขณะเดียวกันก็กล่าวถึงเรื่องราวของท่านนบียูนุสอย่างสมบูรณ์ เพื่อวาดภาพให้เห็นถึงความลำบากในชีวิตของท่านนบีและอำนาจของอัลลอฮ์ที่ทรงทำให้นบียูนุสรอดพ้นจากความยากลำบากที่กุรอานกล่าวไว้ว่า

وَإِنَّ يُونُسَ لَمِنَ الْمُرْسَلِينَ / إِذْ أَبَقَ إِلَى الْفُلْكِ الْمَشْحُونِ / فَسَاهَمَ فَكَانَ مِنْ الْمُدْحَضِينَ / فَالْتَقَمَهُ الْحُوتُ وَهُوَ مُلِيمٌ /  فَلَوْلَا أَنَّهُ كَانَ مِنْ الْمُسَبِّحِينَ /  لَلَبِثَ فِي بَطْنِهِ إِلَى يَوْمِ يُبْعَثُونَ/ فَنَبَذْنَاهُ بِالْعَرَاء وَهُوَ سَقِيمٌ /  وَأَنبَتْنَا عَلَيْهِ شَجَرَةً مِّن يَقْطِينٍ /  وَأَرْسَلْنَاهُ إِلَى مِئَةِ أَلْفٍ أَوْ يَزِيدُونَ /  فَآمَنُوا فَمَتَّعْنَاهُمْ إِلَى حِينٍ [5]

“และแท้จริง ยูนุส อยู่ในหมู่ผู้ที่ถูกส่งมาเป็นศาสนทูต จงรำลึกถึงขณะที่เขาหนีไปยังเรือที่บรรทุกผู้คนเต็มลำ ยูนุสเข้าร่วมจับฉลาก เขาตกไปอยู่ในหมู่ผู้แพ้การจับฉลาก (ยูนุสถูกโยนลงน้ำ) ปลาตัวใหญ่กลีนเขาเข้าไปในขณะที่เขาตำหนิตัวเอง ถ้าหากว่าเขามิได้เป็นคนหนึ่งในหมู่ผู้แซ่ซ้องสดุดีแล้วเขาจะต้องอยู่ในท้องปลาจวบจนกระทั่งวันฟื้นคืนชีพ แล้วเราได้เหวี่ยงเขาขึ้นบนที่โล่งริมฝั่งในสภาพที่ป่วยและเราให้มีต้นไม้ (พันธ์ไม้เลื้อย) น้ำเต้างอกเงยขึ้น ปกคลุมตัวเขาและเราได้ส่งเขาไป (หมู่บ้านของเขา) ที่มีผู้คนจำนวนหนึ่งแสนคนหรือเกินกว่านั้น แล้วพวกเขาทั้งหมดก็ศรัทธา ดังนั้น เราจึงปล่อยให้พวกเขามีความสุขสำราญชั่วระยะเวลาหนึ่ง”

แต่ในซูเราะฮ์ อันบิยาอ์ ที่พูดถึงการขอดุอาของบรรดาศาสนทูตและการตอบรับดุอาของอัลลอฮ์ด้วยความที่ในซูเราะฮ์นี้ให้ความสำคัญกับเรื่องดุอาและคำสอนเกี่ยวกับดุอาจึงตัดเรื่องราวของนบียูนุสมาเพียงแค่ในส่วนของการขอดุอาของท่านนบีและการตอบรับดุอาจากอัลลอฮ์เท่านั้น อย่างที่กุรอานกล่าวว่า

وَذَا النُّونِ إِذ ذَّهَبَ مُغَاضِبًا فَظَنَّ أَن لَّن نَّقْدِرَ عَلَيْهِ فَنَادَىفِي الظُّلُمَاتِ أَن لَّا إِلَهَ إِلَّا أَنتَ سُبْحَانَكَ إِنِّي كُنتُ مِنَ الظَّالِمِينَفَاسْتَجَبْنَا لَهُ وَنَجَّيْنَاهُ مِنَ الْغَمِّ وَكَذَلِكَ نُنجِي الْمُؤْمِنِينَ [6]

“และจงรำลึกถึงเรื่องราวของซันนูน (นะบียูนุส) เมื่อเขาจากไปด้วยความโกรธพรรคพวกของเขา แล้วเขาคิดว่าเราจะไม่ทำให้เขาได้รับความลำบาก แล้วเขาก็ร้องเรียนกลางความมืดทึบทะมึนว่า “ไม่มีพระเจ้าอื่นใดนอกจากกพระองค์ท่าน มหาบริสุทธิ์แห่งพระองค์ท่าน แท้จริงข้าพระองค์เป็นผู้หนึ่งในหมู่ผู้อธรรมทั้งหลายดังนั้นเราได้ตอบรับการร้องเรียนของเขาและเราได้ช่วยให้เขารอดพ้นจากความทุกข์ระทมและเช่นเดียวกันนี้ เราช่วยบรรดาผู้ศรัทธา”

ศิลปะในการเล่าเรื่องของกุรอานคือการรักษาการเล่าให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงโดยการเลือกเรื่องราวบางส่วนเพื่อให้ผู้ฟังได้รับรู้เรื่องราวบางส่วนและคอยติดตามในส่วนที่เหลืออีกทั้งยังไม่ลืมที่จะนำเสนอคำสอนที่เป็นประโยชน์ด้วย

 

1.หนังสือ บุฮุซุน ฟี เกาะเศาะศิลกุรอาน หน้า 54 , อับดุรร็อบบิฮ์ อับดุลฮาฟิซ

2.ซูเราะฮ์ยาซีน โองการที่ 20-21

3.ซูเราะฮ์ มาอิดะฮ์ โองการที่ 110

4.ซูเราะฮ์นัมล์ โองการที่ 18

5.ซูเราะฮ์ ศอฟฟาต โองการที่ 139-148

6.ซูเราะฮ์ อันบิยาอ์ โองการที่ 87-88

Exit mobile version